กรุงเทพฯ 22 ม.ค. – นักวิชาการด้านทรัพยากรน้ำระบุสถานการณ์แม่น้ำโขงดีขึ้น หลังจากจีนเริ่มปล่อยน้ำที่เก็บกักไว้ผลิตกระแสไฟฟ้า ห่วงพื้นที่เกษตรภาคอีสานและลุ่มเจ้าพระยาที่เพาะปลูกเกินแผน อาจส่งผลให้มีการใช้น้ำเกินกว่าแผนบริหารจัดการน้ำที่วางไว้
นายณัฐ มาแจ้ง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศจีนเริ่มระบายน้ำจากเขื่อนที่กั้นแม่น้ำโขง เพื่อใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศไทยเริ่มสูงขึ้น จากก่อนหน้านี้ทางจีนเก็บกักน้ำในช่วงปลายฤดูฝนและไทยประสบภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดต่าง ๆ ของไทยต่ำสุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา ปัจจุบันระดับน้ำแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงขึ้นกว่าปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกัน คาดว่าจะมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภค-บริโภคตลอดฤดูแล้ง
ทั้งนี้ ระยะยาวไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะผันผวนของระดับน้ำแม่น้ำโขงที่ขึ้น-ลงเร็ว เนื่องจากเป็นไปตามการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนที่อยู่ต้นน้ำ โดยสามารถพัฒนาบ่อบาดาลตามริมแม่น้ำที่รับน้ำจากแม่น้ำโขง สร้างแหล่งพักน้ำ พร้อมสถานีสูบน้ำแรงดันต่ำ เมื่อระดับน้ำแม่น้ำโขงสูงให้สูบมาเก็บกักในแหล่งพักน้ำ ส่วนที่เห็นแม่น้ำโขงแห้งจนถึงท้องน้ำนั้น เป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เพียง 1-2 วันจากการปิดประตูระบายน้ำของเขื่อน แต่เมื่อมีการปล่อยน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า น้ำจะไหลมาถึงไทยฤดูแล้งปี 2562 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายนนั้น ระดับน้ำแม่น้ำโขงสูงที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
นายณัฐ กล่าวว่า ที่เป็นห่วง คือ พื้นที่เกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือและลุ่มเจ้าพระยาเพาะปลูกเกินกว่าแผนปลูกพืชฤดูแล้ง แม้กรมชลประทานจะประชาสัมพันธ์แล้วว่าบางพื้นที่ไม่มีน้ำสนับสนุน แต่เกษตรกรยังฝืนปลูก ซึ่งเสี่ยงว่าจะเสียหายได้ โดยเฉพาะข้าวนาปรังใช้น้ำมาก นอกจากนี้ ที่ผ่านมามีการสูบน้ำไปใช้ในภาคการเกษตร ทำให้การใช้น้ำเกินกว่าแผนที่กรมชลประทานวางไว้ อีกทั้งเกรงว่าช่วงปลายฤดูแล้ง หากน้ำไม่เพียงพอทำการเกษตร เกษตรกรอาจรวมตัวเรียกร้องให้ส่งน้ำให้เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงน้ำที่สำรองไว้สำหรับฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ รวมถึงสำรองไว้ใช้กรณีเข้าสู่ฤดูฝนช้าหรือฝนทิ้งช่วง ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการรองรับอย่างรอบคอบ.-สำนักข่าวไทย