รพ.จุฬาฯ 20 ม.ค.-มีข้อสันนิษฐานว่า เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อาจแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้ เนื่องจากพบข้อมูลว่าผู้ป่วย 2 คน ที่เข้ารับการรักษาที่สถาบันบําราศนราดูร ไม่พบประวัติของการเดินทางไปที่ตลาดและสัมผัสกับซากสัตว์ ซึ่งต้องรอข้อมูลจากทางการจีนมายืนยัน เพราะเป็นต้นตอของการแพร่ระบาด
ศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่าโรคที่เกิดขึ้น ทางการจีนสันนิษฐานว่า เกิดจากการสัมผัสซากสัตว์ในตลาดสดแห่งหนึ่งในเมืองอู่ฮั่น เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นผู้ที่เคยเดินทางไปที่ตลาดสดดังกล่าว
สอดคล้องกับนายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่บอกว่า ขณะนี้ทางการจีนรายงานพบผู้ป่วยเพิ่มเติมในเมืองปักกิ่ง และเซินเจิ้น จึงเตรียมเฝ้าระวังคัดกรองผู้ที่จะเดินทางเข้ามาจาก 2 เมืองนี้ แต่ยังต้องรอข้อมูลจากทางการจีนก่อนว่าพบการระบาดจริงหรือไม่ ขณะเดียวกันมีข้อสันนิษฐานว่า การแพร่ระบาดอาจติดต่อได้จากคนสู่คน เนื่องจากพบว่าผู้ป่วย 2 คน ซึ่งเข้ารับการรักษาที่สถาบันบําราศนราดูรไม่พบประวัติสัมผัสซากสัตว์ และไปตลาดสด
เนื่องจากองค์การอนามัยโลกยังไม่มีประกาศห้ามเดินทางไปยังประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 และขณะนี้ใกล้ช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรคย้ำว่า ยังคงมาตรการเฝ้าระวังขอให้ประชาชนมั่นใจ และยังสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้
ขณะเดียวกัน ในการเสวนาเรื่อง “Disease X : ปฐมบทโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019” ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดขึ้น
ศาสตราจารย์นายแพทย์ ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้อย่างมาก ที่เชื้อโคโรนาไวรัสสามารถส่งผ่านมาจากสัตว์สู่คนโดยเฉพาะจากไวรัส RNA ที่สามารถผันแปรรหัสพันธุกรรม ทั้งนี้ กระบวนการที่ก่อให้เกิดโรค คือมีขั้นตอนหลบหลีก จากระบบภูมิคุ้มกันของคน /ขยายจำนวน/มีกลไกทำร้ายเซลล์ /เชื้อยังสามารถหลบซ่อนอยู่ในร่างกาย และก่อโรคซ้ำซ้อนขึ้นมา แม้ว่าจะผ่านไปเป็นปีก็ตาม ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าเชื้อโรคมีวิวัฒนาการขั้นตอน ผ่านจากสัตว์ป่าต้นตอ เช่น ค้างคาว จากชนิดหนึ่งไปยังค้างคาวอีกชนิด ไปยังสัตว์บก จนกระทั่งถึงคน และด้วยภาวะบีบคั้น ที่ทำให้มีการผันแปรพันธุกรรม แท้ที่จริงเกิดจากน้ำมือของมนุษย์เอง เป็นการทำลายระบบนิเวศ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิประเทศ อากาศ อุณหภูมิ การเคลื่อนย้ายปรับเปลี่ยนถิ่นฐาน และกระบวนการในการดำรงชีวิตของสัตว์ และในที่สุดเป็นที่มาของเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งในมนุษย์มีตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดาจนถึงมีความรุนแรงค่อยๆ เพิ่มขึ้น จนเป็นทวีคูณ เช่น โรคซาร์ส เมอร์ส ที่ยังแฝงตัวในอูฐ จนกระทั่งไวรัสปอดบวมจีน Novel CoV 2019 ที่มีแนวโน้มในการแพร่จากคนสู่คนได้ โดยที่ความรุนแรงจะอยู่ในระดับใดยังเป็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
นายแพทย์ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคทางเดินหายใจจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่โลกกำลังเผชิญอยู่นี้ พบที่เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน เมื่อเดือนธันวาคม 2562 สันนิษฐานว่า คนน่าจะติดเชื้อไวรัสนี้จากสัตว์ที่เป็นรังโรคของเชื้อนี้ โดยผู้เสียชีวิต 2 รายที่จีนเป็นผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว ล่าสุด คาดว่ามีจำนวนผู้ป่วยโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 มากกว่า 200 คน ใน 3 เมืองคือ อู่ฮั่น เซินเจิ้น และปักกิ่ง ซึ่งแม้จะยังไม่ห้ามการเดินทางไปยัง 3 เมืองนี้ แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรไปยังตลาดสดจุดที่มีซากสัตว์หรืออาหารป่าวางจำหน่าย หรือไม่ควรไปยังโรงพยาบาลที่คาดว่าจะมีเชื้อโรคสะสมอยู่มาก ขณะที่ในช่วงตรุษจีนที่จะมีชาวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น กรมควบคุมโรคได้เตรียมรับมือเฝ้าระวังและตรวจสอบการเดินทางเข้าไทยทุกช่องทางอย่างเข้มข้น.-สำนักข่าวไทย