สมุทรปราการ 16 ม.ค.- ชาวคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งและปลา ช่วยกันสร้างทำนบกั้นน้ำในคลองย่อย หลังคลองสายหลักน้ำน้อยสุดในรอบ 10 ปี พร้อมนำวิธีการหมุนเวียนน้ำมาเลี้ยงกุ้งและปลาในบ่อให้อยู่รอด สู้วิกฤติภัยแล้ง ติดตามเรื่องนี้จากรายงาน
บ่อกุ้งและบ่อปลาหลายพันไร่ บนพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 3 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ พื้นที่ปลายน้ำปากอ่าวไทย ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างหนัก หลังน้ำในคลองสายหลักน้อยสุดในรอบ 10 ปี บางจุดแห้งขอด พื้นดินแตกระแหง เรือไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ส่งผลให้น้ำในคลองที่เหลือน้อยมีความเค็มขึ้นจากปกติ กระทบอาชีพหลักของชาวบ้าน ซึ่งประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งและปลาถึงร้อยละ 80 กุ้งในบ่อไม่ลอกคราบ ปลาเจริญเติบโตช้า และอาจจะตายบางส่วน
แม้ภัยแล้งจะกระทบหนัก ชาวคลองด่านก็ไม่ท้อ เลือกรับมือกับภัยแล้ง ด้วยวิธีการดั้งเดิมที่ทำสืบต่อกันมา ทำนบกั้นน้ำในคลองย่อย ชาวบ้านช่วยกันสร้างขึ้นหลังจากน้ำในคลองแห้งขอด โดยจะสูบน้ำจากคลองสายหลักมาเก็บไว้ แล้วจะหมุนเวียนกันมาสูบน้ำที่ได้ไปใช้ในบ่อของตนเอง
ชาวบ้านตั้งกติกาใช้น้ำร่วมกัน โดยจัดคิวก่อนหลัง ชาวบ้านหนึ่งคนจะสูบน้ำได้ 1 ครั้ง และสูบน้ำได้คนละ 1 วันเท่านั้น จะหมุนเวียนสูบน้ำจากคลองย่อยเข้าสู่บ่อกุ้งและบ่อปลาไปจนครบทุกครัวเรือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
การผันน้ำจากบ่อสู่บ่อ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ได้รับความนิยม เป็นการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดการสิ้นเปลืองของน้ำที่จะสูบเข้าบ่อใหม่ในปริมาณที่มากได้ วิธีนี้เริ่มจากการสูบน้ำออกจากบ่อที่ 1 ไปเก็บไว้บ่อที่ 2 เพื่อจับกุ้งและปลาไปขาย ก่อนจะตากดินในบ่อให้แห้ง จนสามารถปล่อยกุ้ง ปลา ใหม่ได้อีกครั้ง หลังจากนั้นชาวบ้านจะสูบน้ำจากบ่อที่ 2 กลับมาบ่อที่ 1 เช่นเดิม เพื่อเลี้ยงกุ้ง ปลา รุ่นถัดไป
รองนายก อบต.คลองด่าน ยอมรับปีนี้น้ำน้อยและแล้งเร็วกว่าทุกปี กระทบบ่อกุ้งและปลาของชาวบ้านอย่างหนัก ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเลี้ยงกุ้งและปลา หลังวิกฤติภัยแล้งคุกคาม อบต.คลองด่าน ช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มที่ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอและกระทบกับอาชีพของชาวบ้านให้น้อยที่สุด
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังหวังให้น้ำในคลองสายหลักเพิ่มขึ้น และต้องการให้ภาครัฐดำเนินการขุดลอกคลองที่ตื้นเขินให้ลึกมากขึ้น เชื่อจะช่วยให้มีน้ำเพียงพอในช่วงฤดูแล้ง.-สำนักข่าวไทย