กรุงเทพฯ 14 ม.ค. – รมว.เกษตรฯ เร่งทุกหน่วยงานกำหนดมาตรการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งด่วน หวั่นน้ำน้อยทำผลผลิตเสียหาย ต้นทุนพุ่งกระทบผู้บริโภค
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนเป็นห่วงที่สุดขณะนี้ คือ ผลกระทบจากภัยแล้ง ทุกหน่วยงานต้องป้องกันและบรรเทาปัญหาทันที โดยระหว่างที่ต้องรอวุฒิสภาพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วันที่ 20 มกราคมนี้ให้ใช้งบประมาณปี 2562 ดำเนินการไปพลางก่อน
จากการประเมินของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ภาวะน้ำน้อยในฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วงที่อาจเกิดขึ้นในต้นฤดูกาลเพาะปลูกใหม่จะทำให้ข้าวนาปรังปี 2562/2563 เสียหาย ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ กําหนดแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังทั่วประเทศ 4.54 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 3.12 ล้านไร่ หรือร้อยละ 68.72 ของแผน แต่พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่อยู่ลุ่มเจ้าพระยาไม่มีแผนทำนาปรัง กรมชลประทานไม่มีแผนจัดสรรเพื่อการเกษตร ที่ผ่านมาชาวนาเคยซื้อน้ำมาเลี้ยงต้นข้าวทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ถ้าสูบน้ำจากระบบชลประทานจะกระทบต่อแผนการบริหารจัดการน้ำอีกด้วย ส่วนไม้ผลโดยเฉพาะทุเรียนซึ่งเป็นพืชที่มีมูลค่าสูงอาจได้รับผลกระทบในเรื่องการติดดอกออกผล พืชไร่ที่สําคัญได้แก่ อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสําปะหลัง และสับปะรดจะเจริญเติบโตช้า ปริมาณผลผลิตต่อไร่และคุณภาพผลผลิตมีแนวโน้มลดลง สำหรับแหล่งปลูกกล้วยไม้ หากมีน้ำเค็มรุกจะทำให้ช่อสั้น ดอกเล็ก ไม่ได้ตามคุณภาพส่งออก รวมถึงอาจมีอาการใบไหม้ได้ ปศุสัตว์จะเจริญเติบโตช้าเนื่องจากอากาศร้อน พืชอาหารสัตว์ไม่เพียงพอ สุขภาพอ่อนแอและเจ็บป่วย ผู้เลี้ยงปลาในกระชังเสียงอาจเสียหายเนื่องจากปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงและอากาศร้อนทําให้สัตว์น้ำเติบโตช้า
“ภัยแล้งอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ราคาสินค้าเกษตรดังกล่าวมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ต้องการให้กลายเป็นภาระของผู้บริโภค จึงสั่งการทุกหน่วยให้เร่งประชุมกำหนดแผนปฏิบัติการป้องกันและลดกระทบภัยแล้งสัปดาห์นี้” นายเฉลิมชัย กล่าว
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการ สศก. กล่าววา วันนี้ (14 ม.ค.) ทุกหน่วยงานต้องส่งแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ภาคการเกษตรปี 2563 ทั้ง 8 ประเด็น เพื่อรวบรวมเสนอปลัดกระทรวงฯ และ รมว.เกษตรฯ จากนั้นปลัดกระทรวงฯ จะเรียกประชุมด่วนวันที่ 17 มกราคม เพื่อพิจารณาและเร่งรัดการดำเนินการตามที่กรมต่าง ๆ เสนอ
สำหรับนโยบายปฏิรูปภาคการเกษตร ประกอบด้วย 8 ประเด็นหลัก ได้แก่ การบริหารจัดการแหล่งน้ำทั้งระบบ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร ได้แก่ การปฏิบัติการฝนหลวง การจ้างงานของกรมชลประทานในหน้าแล้ง การส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง การส่งเสริมการเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีความต้องการของตลาด (โค/กระบือ/ แพะ) การควบคุมและป้องกันโรคทั้งพืชและสัตว์ การใช้ระบบตลาดนำการผลิต การลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ การบริหารจัดการประมงอย่างยั่งยืน การจัดสรรที่ดินทำกิน (ส.ป.ก.) การจัดทำข้อมูลสารสนเทศด้านการเกษตร และการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)
ทั้งนี้ รมว.เกษตรฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร เพื่อกำกับให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการ นอกจากนี้ ยังแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณของกระทรวงเกษตรฯ ทำหน้าที่ติดตามความก้าวหน้าผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 โดยต้องรายงาน รมว.เกษตรฯ ทุกระยะและจัดส่งข้อมูลแผนการเบิกจ่ายงบประมาณแก่สำนักงบประมาณผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ตามที่สำนักงบประมาณกำหนด เน้นย้ำให้ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนตรวจสอบได้และไร้ทุจริต.-สำนักข่าวไทย