กรุงเทพฯ 9 ม.ค. – กรมชลประทานเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ สู่แม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้าย เพื่อเจือจางค่าความเค็มไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรม
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า วันนี้เป็นวันที่ 2 ของการเพิ่มปริมาตรน้ำที่ระบาจากเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท 100 ลบ.ม./วินาที โดยจะคงการระบายอัตรานี้ถึงวันพุร่งนี้ (10 ม.ค.) จากนั้นจะทยอยปรับลดลงจนอยู่ที่ 90 ลบ.ม./วินาที ส่วนเขื่อนพระราม 6 ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งรับน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์นั้น ระบาย 11 ลบ.ม./วินาที ต่อเนื่องถึงพรุ่งนี้ แล้วจะทยอยปรับลดเช่นกัน
ทั้งนี้ กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ คาดการณ์ว่าน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดวันที่ 12-13 มกราคม จากนั้นจะลดลงตามลำดับ ระหว่างนี้ได้เร่งสูบน้ำจากแม่น้ำลำคลองต่าง ๆ มาสู่แม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้าย เพื่อเจือจางค่าความเค็มน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเดินเครื่องสูบน้ำ 12 เครื่องที่ประตูระบายน้ำ (ปตร.) พระยาบรรลือ สูบน้ำที่ผันมาจากแม่น้ำแม่กลองผ่านแม่น้ำท่าจีนลงสู่คลองพระยาบรรลือระบายผ่านประตูระบายน้ำสิงหนาท 2 ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 36 ลบ.ม./วินาที
ปตร.พระยาบรรลือ สูบน้ำ 12 เครื่อง (จาก 14 เครื่อง เครื่องละ 3 ลบ.ม./วินาที) ปริมาณน้ำ 36 ลบ.ม./วินาที เดินเครื่องผลักดันน้ำ 14 จุด รวม 72 เครื่อง โดยจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปยังสถานีสูบน้ำสำแล จังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นสถานีสูบน้ำดิบสำหรับผลิตน้ำประปาเลี้ยงกรุงเทพฯ และปริมณฑล นอกจากนี้ยังสั่งให้สำนักเครื่องจักรกลเปิดเส้นทางน้ำคลองพระพิมลซึ่งเชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนมายังคลองบางบัวทอง ก่อนลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่ปตร.สน.พระพิมล 5 เครื่อง มีแผนระบายน้ำ 15 ลบ.ม./วินาที แต่เนื่องจากน้ำในคลองไม่ยกตัว จึงสูบออกที่ปตร.บางบัวทองได้บางช่วงเวลาเท่านั้น นอกจากนี้ ยังได้ขอความร่วมมือจากการประปานครหลวงเพิ่มการสูบน้ำจากคลองประปาที่เชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนมาลงคลองปลายบางบริเวณหน้าโรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์ อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี จาก 6 ลบ.ม./วินาที เป็น 10 ลบ.ม./วินาที เพื่อให้น้ำจืดมาเจือจางค่าความเค็มของแม่น้ำเจ้าพระยาช่วยให้สามารถผลิตน้ำประปาได้ตามปกติ ประกอบกับเปิดบาน ปตร. คลองลัดโพธิ์ในช่วงเวลาน้ำลง ตั้งแต่เวลา 15.30- 21.30 น. รวม 6 ชั่วโมง
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า การเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาลดลง จากเมื่อวานนี้ (8 ม.ค.) เวลา 06.00 น. อยู่ที่ +14.10 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) เช้านี้ (9 ม.ค.) อยู่ที่ +14.00 เมตร รทก. และคาดว่าวันพรุ่งนี้จะอยู่ที่ +13.50 เมตร รทก. แต่จะไม่ลดต่ำไปกว่านี้เนื่องจากจะทยอยปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ขณะนี้ขอความร่วมมือโครงการชลประทาน 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาลดการรับน้ำเข้าระบบชลประทานให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด โดยขณะนี้น้ำยังสามารถเข้าไหลเข้าคลองชลประทานทุกสายและไหลย้อนขึ้นสู่แม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานีได้
“ศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้งปี 2562/2563 กรมชลประทานจะติดตามและแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง สำหรับลุ่มเจ้าพระยาจะเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนจะเกิดอีกครั้งปลายเดือนนี้ ซึ่งเตรียมส่งเครื่องจักร-เครื่องมือควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง ตลอดจนพร้อมแก้ไขปัญหาการขาดแคลน้ำในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศตลอด 24 ชั่วโมง” นายทองเปลว กล่าว
นายทองเปลว กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการยกระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท สูงขึ้นเกินกว่า +14 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) ในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วจนถึงต้นสัปดาห์นี้ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณประตูระบายน้ำประพาสต้นและประตูระบายน้ำขุมทรัพย์ ซึ่งเชื่อมต่อกับแม่น้ำสะแกกรังอยู่ที่ระดับ +14.25 เมตร รทก. น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลย้อนเข้าแม่น้ำสะแกกรังซึ่งอยู่เหนือเขื่อนได้เพิ่มขึ้น โดยการลำเลียงน้ำทางประตูระบายน้ำประพาสต้นจะผ่านบึงขุมหมาลงสู่แม่น้ำสะแกกรัง ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร ส่วนทางประตูระบายน้ำขุมทรัพย์จะผ่านบึงขุมหมาเช่นกัน แล้วลงแม่น้ำสะแกกรัง ระยะทาง 1 กิโลเมตร ซึ่งบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรังตอนล่างจังหวัดอุทัยธานีได้แล้ว นอกจากนี้ ยังกำชับให้กำจัดวัชพืชในลำน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้น้ำไหลเวียนได้สะดวกมากขึ้นด้วย
ทั้งนี้ กรมชลประทานมีแผนงานสร้างสถานีสูบน้ำบริเวณประตูระบายขุมทรัพย์ ซึ่งอยู่ในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2563 จำนวน 80 ล้านบาท ส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำและอาคารบังคับน้ำในบึงขุมหมา กำหนดไว้ในแผนปีงบประมาณ 2564 สำหรับระยะยาวจะเร่งรัดโครงการพัฒนาแหล่งน้ำสะแกกรังตอนบน โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำเขาชนกัน เพื่อปิดปากแม่น้ำสะแกกรังกันไม่ให้น้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โดยอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเพื่อใช้บริหารจัดการน้ำและกักเก็บน้ำไว้ใช้ให้เพียงพอตลอดฤดูแล้งต่อไป.-สำนักข่าวไทย