กรุงเทพฯ 13 ต.ค. – ศปช. แนะประชาชนที่เอกสารสำคัญหาย ติดต่อ อปท. ขอออก “หนังสือรับรองผู้ประสบภัยฯ” ส่วน จ.ลำพูน ระบายน้ำต่อเนื่อง คาดอีก 5 วัน แห้งทุกพื้นที่ เร่งล้างโคลนบ้านเรือนเชียงรายคืบ 97%
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า การฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยของ จ.เชียงราย ได้รับรายงานจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ภาพรวมคืบหน้าถึงร้อยละ 97 โดยนอกเขตเทศบาลนครเชียงราย ทั้ง 6 ตำบล 1,285 ครัวเรือน เจ้าหน้าที่เข้าล้างทำความสะอาดถนน ล้างทำความสะอาดบ้านเรือน จัดเก็บขยะ เสร็จทั้งหมดแล้ว เหลือในพื้นที่เทศบาลนครเชียงราย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและท้องถิ่นในพื้นที่ยังคงล้างถนนและบ้านเรือนอีก 40 ครัวเรือน จากทั้งหมด 82 ครัวเรือน ก็จะแล้วเสร็จตามเป้าหมาย
ส่วนที่ อ.แม่สาย เฟส 2 ภาพรวมคืบหน้าร้อยละ 80 โดยที่ชุมชนหัวฝาย เหมืองแดงใต้ และปิยะพร ดำเนินการล้างทำความสะอาดบ้านเรือนให้ประชาชนเรียบร้อยแล้ว เหลือพื้นที่เหมืองแดง ไม้ลุงขน เกาะทราย และสายลมจอย กำลังพลของกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม ยังเร่งดำเนินการต่อเนื่อง
ส่วนสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.ลำพูน ขณะนี้ นายจิรายุ กล่าวว่า ภาพรวมระดับน้ำลดลงทุกจุดแล้ว โดยนายสุภรณ์วัฒน์ สุรการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน รายงานว่าสามารถระบายน้ำที่ไหลเข้ามาลงสู่ลำน้ำสายหลักได้แล้วร้อยละ 60 ยังเหลืออีกร้อยละ 40 คาดว่าจะใช้เวลาอีก 5 วัน สถานการณ์คลี่คลาย และได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจเส้นทางน้ำ เพื่อเร่งเปิดทางน้ำ ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มบางจุด ไม่ได้ถอนเครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่จนกว่าสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ
ส่วนกรณีน้ำท่วมขังเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นในพื้นที่บางจุด วันนี้ (13 ต.ค.) สถานีพัฒนาที่ดินลำพูน กรมพัฒนาที่ดิน แจกน้ำหมักและสารเร่งซูเปอร์ พด.6 ที่เป็นเชื้อจุลินทรีย์ ช่วยบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็น จำนวน 500 ขวด และ500 ซอง ให้ผู้ประสบภัยหมู่ 1, 2 และ 4 ต.หนองช้างคืน อ.เมือง ณ อาคารอเนกประสงค์ วัดหนองช้างคืน พร้อมแนะนำวิธีการใช้ด้วย
“ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน อย่างเร่งด่วน โดยการสูบน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังโดยเร็ว บำบัดน้ำเสีย กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำ หากเกินขีดความสามารถในพื้นที่ ให้ประสานศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายจิรายุ กล่าว
นายจิรายุ กล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ประสบภัยที่เอกสารสำคัญชำรุดหรือสูญหาย ไม่ว่าจะเป็นบัตรประจำตัวประชาชน โฉนดที่ดิน ใบรับรอง หรือหนังสือสำคัญของทางราชการ สามารถติดต่อขอรับใหม่ได้ โดยขอรับ “หนังสือรับรองผู้ประสบภัยประเภทบุคคลธรรมดา” จาก อปท. ในพื้นที่ก่อน แล้วนำหนังสือรับรองดังกล่าวไปดำเนินการขอรับเอกสารสำคัญในขั้นตอนต่อไปได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ “หนังสือรับรองผู้ประสบภัยประเภทบุคคลธรรมดา” จำเป็นต้องใช้ในการประกอบเพื่อขอรับเงินเยียวยาตามนโยบายรัฐบาล ทั้งการเยียวยาเหมาจ่ายครัวเรือนละ 9,000 บาท และเงินช่วยเหลือค่าล้างดินโคลน หลังละ 10,000 บาท
“เงินเยียวยาครัวเรือนละ 9,000 บาท คาดว่าจะโอนเข้าบัญชีผู้ประสบภัยเร็วๆ นี้ ส่วนเงินค่าล้างโคลน เทศบาล/อบต.ในแต่ละพื้นที่จะต้องลงพื้นที่สำรวจ ก่อนจะดำเนินการตามขั้นตอนประชุมพิจารณาและจ่ายเงินให้ผู้ประสบภัยต่อไป เน้นย้ำผู้ประสบภัยขอให้ตรวจสอบข้อมูลครัวเรือนว่าอยู่ในการสำรวจของเทศบาลหรือไม่ ป้องกันรายชื่อที่่อาจตกหล่น” นายจิรายุ กล่าว
ขณะที่ความคืบหน้าการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ นายจิรายุ กล่าวว่า ได้รับรายงานที่ประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัดเชียงใหม่ (ก.ช.ภ.จ.เชียงใหม่) ครั้งที่ 2 ล่าสุดมี 2 อำเภอ ได้รวบรวมเอกสารครัวเรือนที่ประสบอุทกภัยส่งมาให้ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติขอรับเงินช่วยเหลือแล้ว คือ อ.ฝาง จำนวน 1,257 ครัวเรือน เป็นเงิน 11,313,000 บาท และ อ.สันทราย จำนวน 443 ครัวเรือน เป็นเงิน 3,987,000 บาท ยอดรวมครั้งนี้ 1,700 ครัวเรือน เป็นเงินทั้งสิ้น 15,300,000 บาท จากนี้จะส่งเอกสารคำร้องไปให้ ปภ. เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและพิจารณาอนุมัติเงินจากรัฐบาล ก่อนจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคารของประชาชนโดยตรง ยืนยันไม่มีผู้ประสบอุทกภัยที่เข้าหลักเกณฑ์ตกหล่นแม้แต่รายเดียว ในส่วนของอำเภอที่เหลือ ให้เร่งสำรวจ รวบรวม และยื่นเอกสารให้คณะกรรมการฯ พิจารณาโดยเร็ว ซึ่งจะประชุมพิจารณาทันที ไม่เว้นวันหยุดราชการ กำชับต้องให้ความสำคัญและเร่งช่วยเหลือพี่น้องประชาชนเร็วที่สุด.-312-สำนักข่าวไทย