ปทุมธานี 6 ม.ค. – ปัญหาภัยแล้งขยายวงกว้าง จ.ปทุมธานี แล้งหนัก น้ำน้อยสุดในรอบ 40 ปี น้ำในคลอง 9 ถึงคลอง 11 อ.หนองเสือ แห้งขอด สันดอนดินโผล่ น้ำไม่เพียงพอต่อภาคการเกษตร ชาวไร่ชาวสวนหวั่นขาดทุนสูง วอนหน่วยงานรัฐเข้าช่วยเหลือ
สภาพคลองที่เห็นเป็นแนวยาว น้ำในคลองเริ่มแห้งขอด พื้นดินแตกระแหงอย่างเห็นได้ชัด เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าพื้นที่หนองเสือ จ.ปทุมธานี กำลังประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก ชาวบ้านต้องรับมือกับภัยแล้งเพื่อให้กระทบกับพืชผลทางการเกษตรน้อยที่สุด
จากการสำรวจพื้นที่ อ.หนองเสือ พบว่า ตั้งแต่คลอง 9 ไปจนถึงคลอง 11 น้ำในคลองแห้งขอด บางจุดสันดอนดินโผล่ สามารถเดินข้ามฝั่งไปได้ ประกอบกับน้ำจากคลองระพีพัฒน์ และคลองรังสิตประยูรศักดิ์ มีปริมาณน้อยไม่เพียงพอที่จะไหลเข้าถึง ส่งผลชาวบ้านเดือดร้อนจากวิกฤติภัยแล้งอย่างหนัก เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ กระทบต่อภาคการเกษตรเป็นวงกว้าง เนื่องจากชาวบ้านที่นี่ร้อยละ 70 มีอาชีพทำนา ทำสวน ต้องใช้น้ำในคลองเป็นหลักเพื่อหล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตร
นายสุริยา แดงสวัสดิ์ อายุ 46 ปี ชาวบ้านหมู่ 7 ต.บึงกาสาม อ.หนองเสือ เล่าว่า น้ำในคลองเริ่มแห้งขอดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน และน้อยกว่าทุกปี ตนปลูกพืชผสมผสานรวมทั้งหมด 125 ไร่ ปีนี้ได้รับผลกระทบหนักที่สุด พืชบางส่วนกำลังแห้งเหี่ยวตาย แม้ว่าจะสูบน้ำจากคลอง 9 มากักเก็บไว้ในร่องสวน แต่ก็ไม่เพียงพอกับพืชผลทางการเกษตร หวั่นปีนี้ขาดทุนสูง
ชาวบ้านอีกหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้แล้งมาเร็วกว่าทุกปี และหนักสุดในรอบ 40 ปี น้ำในคลองน้อย แม้ว่าจะจัดรอบเวรปล่อยน้ำรอบละ 2 ชั่วโมง แต่น้ำที่ได้ก็ไม่เพียงพอ หากอีก 1 เดือนข้างหน้า ปริมาณน้ำยังน้อย มั่นใจพืชผลทางการเกษตรยืนต้นตายแน่นอน
ด้านนายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ ยอมรับว่า ปริมาณน้ำจากเจ้าพระยาที่เข้าสู่ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์มีปริมาณน้อยกว่าทุกปี ปีนี้ถือว่าน้อยสุดในรอบ 40-50 ปี ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับภาคการเกษตร เบื้องต้นทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านแล้วให้ใช้น้ำอย่างประหยัด งดทำนาปรัง หันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแทน
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังกังวลถึงภัยแล้งว่าจะทวีความรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ ขณะเดียวกัน ชาวบ้านบางส่วนยังต้องการให้ภาครัฐเข้าช่วยเหลือ และมีแนวทางการบริการจัดการน้ำอย่างชัดเจน เพื่อลดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตและภาคการกษตรต่อไป. – สำนักข่าวไทย