กรุงเทพฯ 3 ม.ค. – กรณี “ลิซ่า แบล็กพิงก์” ถ่ายรูปที่ร้านแห่งหนึ่งย่านศรีนครินทร์ แล้วเพจร้านนำรูปไปใช้ พร้อมโพสต์ข้อความ จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม และถูกมองว่าเป็นการคุกคามทางเพศรูปแบบหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันการคุกคามทางเพศในโลกออนไลน์ซับซ้อนมากขึ้น และสามารถนำไปสู่การคุกคามทางเพศอื่นๆ ที่อาจถึงขั้นข่มขืนได้
กลายเป็นกระแสสุดร้อนแรงในโลกโซเชียล เมื่อเพจร้านค้าดังย่านตลาดรถไฟศรีนครินทร์ โพสต์ภาพ “ลิซ่า” ลลิษา มโนบาล ไอดอลสาวไทย สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ปชื่อดังแห่งวงแบล็กพิงก์ พร้อมระบุข้อความทำนองว่า โซฟาที่ “ลิซ่า” นั่งที่ร้าน มีผู้มาขอซื้อแล้วในราคา 100,000 บาท และเตรียมนำของที่ “ลิซ่า” สัมผัส มาประมูลขายอีก
จนมีการมาคอมเมนต์กันอย่างสนุกปาก และเริ่มใช้คำไม่เหมาะสม ส่งผลให้บรรดาแฟนคลับและชาวเน็ตออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และพร้อมใจกันติดแฮชแท็ก #มูนคาเฟ่ชั้นต่ำ ที่ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 และลามไปขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์โลก
ต่อมาช่างภาพที่ถ่ายภาพให้ “ลิซ่า” ออกมาระบุว่า หากไม่ลบคอมเมนต์ และไม่ออกมาขอโทษ จะดำเนินคดี กระทั่งทางเพจออกมาขอโทษผ่านเฟซบุ๊ก และเจ้าของร้านออกมาโพสต์ขอโทษอีกครั้ง
ทีมข่าวสำนักข่าวไทย ลงพื้นที่ตรวจสอบร้านดังกล่าว พบว่าปิดเงียบ มีป้าย Closed หรือปิดให้บริการ ไม่พบพนักงานหรือเจ้าของร้านอยู่ภายใน จากการสังเกตพบฉากที่คล้ายกับในรูปถ่ายของ “ลิซ่า” อาทิ โซฟา ป้ายร้าน
เราตรวจสอบไปที่เพจของร้านดังกล่าว พบว่าหยุดวันจันทร์-พุธ ส่วนวันนี้เป็นวันศุกร์ เปิดให้บริการตั้งแต่ 17.00-24.00 น. และในเพจยังพบคอมเมนต์ที่ไม่พอใจกับการกระทำของเจ้าของร้าน และเห็นว่าเป็นการคุกคามทางเพศ
ข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี จากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้ถูกกระทำกับการคุกคามทางเพศ มีทั้งเป็นคนรู้จักคุ้นเคย หรือเป็นบุคคลในครอบครัว บุคคลแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน และบุคคลที่รู้จักกันผ่าน Social Network ล้วนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ข้อมูลว่า ตัวเลขที่แท้จริงน่าจะมากกว่านี้ เพราะเชื่อว่ายังมีเหยื่อการคุกคามทางเพศในทุกๆ ความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ขณะที่บุคคลที่รู้จักกันผ่านทางโซเชียล มีแนวโน้มนำไปสู่การคุกคามทางเพศอื่นๆ จนนำไปสู่การข่มขืนได้ แต่กลับถูกละเลย กรณีที่เกิดกับบุคคลมีชื่อเสียง ทำให้สังคมหันกลับมาสนใจมากขึ้น
ขณะที่ไทยยังไม่มีกฎหมายเอาผิดการคุกคามทางเพศทางโซเชียลอย่างชัดเจน แต่มีการออกกฎคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กำหนดโทษทางวินัย หากข้าราชการกระทำล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศใน 5 ลักษณะ ได้แก่ สัมผัสทางกาย เช่น การจูบ โอบกอด, ทางวาจา เช่น พูดหยอกล้อ พูดหยาบคาย, การแสดงกิริยาต่างๆ เช่น ใช้สายตาลวนลาม, ทางการสื่อสาร เช่น ส่งจดหมาย ข้อความ แต่ในทางปฏิบัติกลับยังไม่พบข้าราชการถูกลงโทษด้วยกฎหมายนี้
ขณะที่หลายประเทศในอาเซียนให้ความสำคัญกับปัญหาการคุกคามทางเพศเป็นปัญหาใหญ่ และมีการออกกฎหมายอาญาบังคับใช้ลงโทษแล้วในหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์. – สำนักข่าวไทย