กรุงเทพฯ 2 ม.ค. – กรมชลฯ ลดระบายน้ำ 4 เขื่อนใหญ่ เหลือ 18 ล้าน ลบ.ม.ตามแผนพรุ่งนี้ หลังน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการ เฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภคและน้ำเค็มรุกอย่างใกล้ชิด
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้ทยอยปรับลดการระบายน้ำจาก 4 เขื่อนใหญ่ได้แก่ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ จากช่วงก่อนเทศกาลปีใหม่ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาลดต่ำลงมาก โดยอยู่ที่ +13.33 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) จึงได้เพิ่มการระบายน้ำจากวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 28 ล้าน ลบ.ม. ทำให้วันนี้ระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาสูงขึ้นมาอยู่ที่ +14.15 เมตร รทก. สามารถไหลเข้าสู่ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยาได้ ทำให้ปัญหาน้ำในคลองชัยนาท-ป่าสักลดต่ำจนไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาในจังหวัดลพบุรีคลี่คลายแล้ว อีกทั้งยังมีน้ำเพียงพอที่จะควบคุมค่าความเค็มที่สถานีสูบน้ำสำแล จ. ปทุมธานี ท่าน้ำนนทบุรี จ. นนทบุรี ท่าน้ำกรมชลประทาน กรุงเทพฯ ซึ่งเดิมสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั้ง 3 จุด ปัจจุบันไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตรสำหรับผลิตน้ำประปา ไม่เกิน 0.75 กรัมต่อลิตรสำหรับการเพาะปลูกกล้วยไม้ และไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตรสำหรับเลี้ยงพืชสวน โดยขณะนี้ยังคงเพิ่มการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาจาก 70 ลบ.ม. ต่อวินาที เป็น 85 ลบ.ม.ต่อวินาที
นายทองเปลว กล่าวว่า พรุ่งนี้จะปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนหลัก 4 เขื่อน เหลือ 18 ล้าน ลบ.ม. และคงการระบายเท่านี้ไว้ตามแผนตลอดฤดูแล้ง สิ่งสำคัญ คือ ได้ขอความร่วมมือจากฝ่ายปกครองและทางท้องถิ่นให้ควบคุมการสูบน้ำจากแม่น้ำปิง วัง ยม และน่าน โดยขอให้งดการสูบไปใช้เพื่อการเกษตร อีกทั้งขอให้เกษตรกรงดทำนาปรัง เนื่องจากขณะนี้พื้นที่นาปรังใน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ถึง 1.4 ล้านไร่ จากที่กระทรวงเกษตรฯ แจ้งเตือนล่วงหน้าแล้วว่าไม่มีแผนส่งเสริมการปลูกข้าวนาปรัง เนื่องจากกรมชลประทานไม่มีน้ำเพียงพอสนับสนุน ในช่วงก่อนปีใหม่นั้นที่ปลูกข้าวเพิ่มประมาณ 200,000 ไร่ต่อสัปดาห์ แต่จากการทำความเข้าใจกับชาวนา ทำให้อัตราการเพิ่มของพื้นที่นาปรังลดลงแล้ว อีกทั้งยังผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาเสริมท้ายลุ่มเจ้าพระยา ผ่านคลองพระยาบันลือที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีน ซึ่งสามารถผลักดันน้ำเค็มไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ปลูกกล้วยไม้แหล่งใหญ่ในจังหวัดนครปฐมได้ ขณะนี้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่คลองจระเข้สามพันและคลองท่าสารบางปลาเพิ่มเพื่อควบคุมค่าความเค็มน้ำดิบสำหรับผลิตประปาเลี้ยงพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกและปริมณฑล
“จะต้องรักษาระดับน้ำที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยา จ. ชัยนาท ไม่ให้ต่ำกว่า 13.20 เมตร ซึ่งจะเป็นผลให้น้ำไหลเข้าระบบชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำเจ้าพระยาเหนือเขื่อนไม่ได้ อีกทั้งท้ายเขื่อนจะทำให้ตลิ่งทรุดพัง ระบบนิเวศเสียหาย และน้ำเค็มรุกจนไม่สามารถผลิตประปาทั้งของการประปานครหลวงและภูมิภาคได้ แต่หากได้รับความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง โดยสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตั้งแต่ จ.กำแพงเพชรลงมาถึงเขื่อนเจ้าพระยาหยุดสูบ รวมถึงเกษตรกรไม่นำเครื่องสูบน้ำไปตั้งสูบตลอดลำน้ำต่าง ๆ การบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งนี้จะเป็นไปตามแผน โดยในเขตชลประทานไม่มีปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ทั้งยังมีน้ำสำรองถึงช่วงต้นฤดูฝนด้วย” นายทองเปลว กล่าว.-สำนักข่าวไทย