กรุงเทพฯ 21 พ.ค. – กรมชลประทานจัดสรรน้ำฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ รองรับสถานการณ์น้ำฤดูฝนปี 63 เน้นเก็บกักน้ำมากที่สุดให้เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้ง 63/64 เนื่องจากปีนี้ฝนน้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 5% คาดเกิดฝนทิ้งช่วงกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม มีแนวโน้มจะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านไทย 1-2 ลูก เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากโดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ
นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2563 ให้สอดคล้องกับการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ทั้งนี้ มีประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม แต่กรมชลประทานได้เตรียมพร้อมโดยสั่งโครงการชลประทานทั่วประเทศตรวจสอบอาคารชลประทานทุกแห่งให้สามารถใช้งานได้เต็มศักยภาพ รวมทั้งสำรวจสิ่งกีดขวางทาง และกำจัดวัชพืชในแม่น้ำสายหลัก คู คลองต่าง ๆ ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ เป็นไปตามเกณฑ์การเก็บกักที่วางไว้ ที่สำคัญได้เน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม หรือน้ำล้นตลิ่ง อีกทั้ง ยังได้จัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือต่าง ๆ ประจำไว้ในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ว
สำหรับฤดูฝนปี 2563 ปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย (รอบ 30 ปี) ประมาณ 5% ดีกว่าปี 2562 ซึ่งมีปริมาณฝนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ย 11% ดังนั้น ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำธรรมชาติและน้ำในระบบชลประทานจะมากกว่าปีที่แล้ว แต่คาดว่าจะเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคมอาจทำให้เกิดภาวะขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรในพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ส่วนช่วงที่ฝนชุกที่สุด คือ เดือนตุลาคมซึ่งเป็นปลายฤดู นอกจากนี้ มีแนวโน้มว่าจะมีพายุหมุนเขตร้อนพัดเคลื่อนผ่านประเทศไทยประมาณเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 1-2 ลูกบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เน้นย้ำเก็บกักน้ำให้มากที่สุด รวมทั้งเตรียมแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย โดยภาคการเกษตรใช้น้ำฝนเป็นหลัก จะจัดสรรน้ำจากระบบชลประทานให้ในภาวะฝนทิ้งช่วง แผนจัดสรรน้ำฤดูฝนปี 2563 รวม 3,250 ล้านลูกบาศก์เมตร จัดสรรให้ใช้เพื่ออุปโภค-บริโภค 1,073 ล้านลูกบาศก์เมตร (33%) การเกษตร 1,064 ล้านลูกบาศก์เมตร (33%) อุตสาหกรรม 83 ล้านลูกบาศก์เมตร (3%) รักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 435ล้านลูกบาศก์เมตร (13%) แผนเพาะปลูกพืชฤดูฝน 2563 กำหนดไว้10.57 ล้านไร่แบ่งเป็น ข้าวนาปี 8.10 ล้านไร่ (77%) พืชไร่-พืชผัก 130,000 ไร่ (1%) และอื่นๆ 2.34 ล้านไร่ (22%)
นายทองเปลว กล่าวถึงมาตรการเตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัยว่า ได้วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากพื้นที่เกษตรเสี่ยงน้ำท่วม ควบคุมปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่าง กำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อป้องกันและบรรเทาภัย จัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือเช่น เครื่องสูบน้ำ รถขุด รถแทร็คเตอร์ หรือเครื่องมือต่างๆ ที่ให้เพียงพอทุกพื้นที่ โดยเฉพาะจุดเสี่ยง และสำรองไว้ที่ส่วนกลางเพื่อพร้อมสนับสนุนในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติฉับพลันเพื่อจะได้แก้ไขได้อย่างทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย