กรุงเทพฯ 13 มิ.ย. – กรมชลประทานจัดงานวันสถาปนา มุ่งสู่ปีที่ 123 ย้ำแนวทางบริหารจัดการ “น้ำมั่นคง อนาคตยั่งยืน” ฤดูฝน 67 จัดสรรน้ำทั่วประเทศแล้ว 32% ระยะนี้ฝนกระจายตัวน้อย เน้นย้ำแผนส่งน้ำเหมาะสมตามความต้องการใช้ จากนั้นกลางเดือน ก.ค. เร่งเก็บกักเพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งหน้า
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานฉลองครบรอบ 122 ปี กรมชลประทาน มุ่งสู่ปีที่ 123 โดยเน้นย้ำแนวทางบริหารจัดการ “น้ำมั่นคง อนาคตยั่งยืน” ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส ได้มอบนโยบายการขับเคลื่อนกรมชลประทานสู่เป้าหมายหลัก 3 ด้านดังนี้ 1.สร้างความมั่นคงด้านน้ำ (Water Security) มุ่งพัฒนาแหล่งน้ำโครงการพระราชดำริและเขตพัฒนาพิเศษ เร่งเพิ่มพื้นที่ชลประทานและปริมาณน้ำต้นทุนอย่างต่อเนื่อง เพิ่มประสิทธิภาพโครงการชลประทาน บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ พัฒนารูปแบบและแนวทางการรับมือภัยพิบัติทางน้ำ ปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและงบประมาณทั้งระบบ
2.เพิ่มคุณค่าการบริการ (Value to service) เสริมสร้างการมีส่วนร่วม สร้างเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน พัฒนาโครงการชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษา ให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ช่วยเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำ พัฒนาทรัพยากรบุคคล เสริมสร้างความผาสุกและคุณภาพชีวิตที่ดีในการทำงาน ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการขับเคลื่อน BCG Economy Model ตามนโยบายรัฐบาล 3.มุ่งสู่องค์กรอัจฉริยะ (RID Intelligent Organization) จัดการและบูรณาการระบบเทคโนโลยีฐานข้อมูล (Big Data) พัฒนากระบวนการทำงานสู่ระบบ Digital Platform พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ จัดการความรู้ (KM) เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร พัฒนาระบบชลประทานด้วยเทคโนโลยี (IoT)
นายชูชาติ รักจิตร อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้ทุ่มเททำงานเพื่อสานต่องานด้านชลประทานอย่างไม่หยุดนิ่ง ตามภารกิจหลักภายใต้ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ชลประทานให้ได้กว่า 49.5 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ประมาณ 93,655 ล้านลูกบาศก์เมตร มุ่งเน้นเพิ่มรายได้ภาคการเกษตรเป็น 3 เท่า ใน 4 ปี สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร ด้วยหลักการ “ตลาดนำนวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ตามนโยบายรัฐบาล ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเกษตรกร โดยมุ่งเน้นนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาแหล่งน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน
สำหรับสถานการณ์น้ำในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 38,530 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 14,590 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 10,025 ล้าน ลบ.ม. 40% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,329 ล้าน ลบ.ม. ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม จัดสรรน้ำช่วงฤดูฝนปี 2567 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 4,870 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 32% ของแผน เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,741 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 35% ของแผน
ในระยะนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายว่า การกระจายของฝนยังน้อย โดยตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ปริมาณฝนจะเพิ่มและกระจายตัวดีขึ้นจึงเน้นย้ำให้โครงการชลประทานทุกแห่งจัดสรรน้ำตามความต้องการใช้อย่างเหมาะสม ที่สำคัญต้องเก็บกักน้ำไว้ให้มากที่สุดเพื่อสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งถัดไป . -512 – สำนักข่าวไทย