กรุงเทพฯ 23 ธ.ค. – เกษตรฯ แจงโควตานำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งปี 63 พร้อมกำหนดเกณฑ์ราคาขายหัวพันธุ์แก่เกษตรกรและราคารับซื้อกลับ ใช้กลไกสหกรณ์กระจายผลผลิต จับมือพาณิชย์ตรวจสอบสตอก ไม่ให้มีการกักตุน ร่วมกับศุลกากรป้องกันลักลอบนำเข้าไม่ให้กระทบราคาขายของเกษตรกร
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดการการผลิตและการตลาดกระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ และมันฝรั่ง ครั้งที่ 2/2562 เห็นชอบการนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งพันธุ์โรงงาน ปี 2563 ครั้งที่ 1 ปริมาณ 5,208.75 ตัน อัตราภาษีในโควตาร้อยละ 0 (อัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 125) โดยกำหนดให้การนำเข้ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม 2563 และจัดสรรให้บริษัท 3 ราย ได้แก่ บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด 4,347 ตัน บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ฟู้ดส์ จำกัด 850 ตัน และบริษัท ยูนิแชมป์ จำกัด 11.75 ตัน
สำหรับกำหนดให้นำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งปีละ 3 ครั้ง เพื่อให้เกษตรกรปลูก คือ เมษายน-กรกฎาคม 2563 สิงหาคม-ตุลาคม 2563 และพฤศจิกายน 2563 – มกราคม 2564 โดยผู้ที่มีความประสงค์ขอนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งต้องเป็นนิติบุคคลและต้องจัดทำหนังสือแจ้งความประสงค์ขอนำเข้ามายัง สศก.ภายในระยะเวลาที่กำหนด เอกสารการนำเข้า ประกอบด้วย หนังสือรับรองพื้นที่เพาะปลูก ทะเบียนเกษตรกร และข้อมูลปริมาณหัวพันธุ์ที่สอดคล้องกัน โดยมีเกษตรจังหวัดหรือสหกรณ์จังหวัดรับรอง ส่วนกรณีบริษัทนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งเพื่อมาเพาะปลูกในพื้นที่ของตนเอง ให้บริษัททำหนังสือรับรองพื้นที่เพาะปลูกและข้อมูลปริมาณหัวพันธุ์ที่สอดคล้องกัน โดยมีเกษตรจังหวัดหรือสหกรณ์จังหวัดรับรองด้วย ทั้งนี้ ผู้นำเข้าจะต้องจำหน่ายหัวพันธุ์มันฝรั่งโรงงานให้แก่เกษตรกรไม่เกินกิโลกรัมละ 35 บาท
ส่วนการบริหารการนำเข้าหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปปี 2563 กำหนดอัตราภาษีในโควตาร้อยละ 27 (อัตราภาษีนอกโควตาร้อยละ 125) ปริมาณ 52,000 ตัน นำเข้าระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2563 โดยจัดสรรให้บริษัท เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ปริมาณ 44,750 ตัน บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ฟู้ดส์ จำกัด ปริมาณ 6,750 ตัน และบริษัท ยูนิแชมป์ จำกัด ปริมาณ 500 ตัน มีเงื่อนไขว่าผู้นำเข้าหรือผู้แทนผู้นำเข้าจะต้องทำสัญญารับซื้อผลผลิตหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปจากเกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งภายในประเทศด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบปริมาณในโควตาที่ขอขยายเพิ่มเติมอีก 6,400 ตัน โดยจัดสรรให้บริษัทเป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง จำกัด ปริมาณ 5,400 ตัน บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ฟู้ดส์ จำกัด ปริมาณ 1,000 ตัน ซึ่ง สศก.จะนำเข้าคณะกรรมการนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์พิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
นายรพีพัฒนา กล่าวว่า ปี 2563 คาดว่ามีเนื้อที่เพาะปลูกมันฝรั่งรวม 47,297 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ผลผลิตรวม 138,782 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 โดยผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวเฉลี่ย 2,943 กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 92 กิโลกรัมต่อไร่หรือร้อยละ 3 สาเหตุที่เนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากบริษัทผู้รับซื้อมันฝรั่งมีแผนความต้องการและส่งเสริมให้ขยายการผลิตปี 2561-2563 ซึ่งขอเพิ่มโควตานำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งพันธุ์โรงงานส่งผลทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูก ประกอบกับสภาพภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของมันฝรั่ง และบริษัทผู้รับซื้อมันฝรั่งส่งเสริมให้เกษตรกรใช้หัวพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน ผลผลิตได้ขนาดตามความต้องการ ภาพรวมผลผลิตรวมทั้งประเทศจึงเพิ่มขึ้น ดังนั้น แม้จะมีการขยายการผลิตและการนำเข้าเพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อราคาที่เกษตรกรได้รับ เนื่องจากมีการรับซื้อตามราคาขั้นต่ำที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนดอยู่แล้ว ทั้งนี้ ผู้นำเข้าหรือผู้แทนผู้นำเข้าจะต้องรับซื้อผลผลิตหัวมันฝรั่งสดเพื่อแปรรูปจากเกษตรกร ในราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 14 บาท ในช่วงฤดูฝน (ก.ค.-ธ.ค.) และราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 10.60 บาทในช่วงฤดูแล้ง (ม.ค.-มิ.ย.)
“การจัดการสินค้ามันฝรั่งปี 2563 ในช่วงที่ผลผลิตออกมานั้น จะเน้นกระจายผ่านเครือข่ายสหกรณ์ ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ เพื่อขอความร่วมมือไปยังห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์นเทรด พร้อมตรวจสอบสตอกของผู้ประกอบการ เพื่อป้องกันการกักตุนและเก็งกำไร ขณะที่กรมศุลกากรจะปราบปรามการลักลอบการนำเข้าอย่างเข้มงวด” นายรพีพัฒน์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย