กรุงเทพฯ 20 พ.ย. – สศก.คาดผลผลิตมะพร้าวผลแก่ ปี 68 เพิ่มขึ้นไม่มาก สาเหตุจากการระบาดของโรคและแมลงศัตรูมะพร้าว กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ใกล้ชิดติดตามสถานการณ์ ไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน รวมถึงให้เกษตรกรจำหน่ายได้ในราคาเป็นธรรม
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ในปี 2568 (ข้อมูลพยากรณ์ ณ พฤศจิกายน 2567) คาดว่า เนื้อที่ให้ผลทั้งประเทศ 0.828 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีเนื้อที่ 0.821 ล้านไร่ โดยเพิ่มขึ้น 7,368 ไร่ หรือร้อยละ 0.90 ปริมาณผลผลิตทั้งปี 633.25 ล้านผล เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ให้ผลผลิต 600.52 ล้านผล เพิ่มขึ้น 32.731 ล้านผล หรือร้อยละ 5.45 เนื่องจากในช่วงปลายฤดูฝนของปี 2567 มีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้น หากในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวย มีปริมาณน้ำฝนเพียงพอต่อความต้องการของมะพร้าว ทำให้ต้นมะพร้าวมีการสะสมอาหารและต้นมะพร้าวสมบูรณ์ขึ้น จะส่งผลให้การออกดอกและการติดผลต่อทะลายเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตเพิ่มขึ้นไม่มากนักเนื่องจากต้นมะพร้าวจะยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากช่วงปลายปี 2567 จากการระบาดของหนอนและแมลงศัตรูมะพร้าว เช่น แมลงดำหนาม หนอนหัวดำ และด้วงแรด ทำให้ในปี 2568 ต้นมะพร้าวอาจไม่สมบูรณ์เต็มที่ การติดจั่นและจำนวนผลมะพร้าวต่อทะลายในช่วงปี 2567 ที่จะให้ผลผลิตได้ในปี 2568 ลดลง โดยเฉพาะในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญ
จากการรายงานข้อมูลของกองส่งเสริมการอารักขาพืชและจัดการดินปุ๋ย กรมส่งเสริมการเกษตร ณ 30 ตุลาคม 2567 พบว่า มีรายงานการระบาดหนอนหัวดำ 27 จังหวัด พบพื้นที่การระบาดรุนแรง 6,591 ไร่ และพื้นที่การระบาดน้อยถึงปานกลาง 36,956 ไร่ และรายงานการระบาดแมลงดำหนาม 23 จังหวัด พบพื้นที่การระบาดรุนแรง 692 ไร่ และพื้นที่การระบาดน้อยถึงปานกลาง 11,989 ไร่ ส่งผลให้ราคามะพร้าวผลแห้งคละที่เกษตรกรขายได้ ปี 2567 เฉลี่ยเดือน ม.ค. – พ.ย. อยู่ที่ 1,101 บาท/ร้อยผล เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่มีราคาเฉลี่ย 756 บาท/ร้อยผล โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 45.67 ช่วงผลผลิตออกมาสู่ตลาดมากของมะพร้าวผลแก่ อยู่ในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการประกาศเตือนให้เกษตรกรเฝ้าระวังการระบาดของโรคและแมลงศัตรูมะพร้าว เช่น แมลงดำหนาม หนอนหัวดำและด้วงแรดมะพร้าว อีกทั้งยังได้ส่งเสริมการควบคุมศัตรูมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้ศัตรูทางธรรมชาติในการกำจัด พร้อมทั้งให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในการใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน (IPM) เพื่อเพิ่มพูนความรู้และสร้างความเข้าใจในการจัดการศัตรูมะพร้าวอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการติดตามและประเมินสถานการณ์ประชากรของศัตรูมะพร้าวในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการสำรวจและติดตามสถานการณ์การระบาดของศัตรูมะพร้าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกษตรกรสามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ในการบริหารจัดการผลผลิตมะพร้าวให้มีความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน เพื่อลดผลกระทบต่อราคามะพร้าวในตลาด และให้ความสำคัญในการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่า ผลผลิตจะเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกน้อยและช่วยให้เกษตรกรได้รับราคาที่เป็นธรรมจากการขายมะพร้าว ขอให้เกษตรกรที่ต้องการแจ้งข้อมูลหรือขอคำปรึกษาเรื่องโรคและแมลงศัตรูมะพร้าวสามารถขอคำแนะนำและแจ้งได้ที่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตรในอำเภอที่ใกล้บ้าน
สำหรับหนอนหัวดำพบพื้นที่ระบาด 27 จังหวัด (ณ 30 ต.ค. 67) ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี สมุทรสาคร นครศรีธรรมราช ตราด สงขลา ชุมพร นครราชสีมา กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา สตูล ภูเก็ต ปัตตานี กระบี่ พังงา จันทบุรี สมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว นราธิวาส สุรินทร์ ชัยภูมิ ระยอง และราชบุรี
ส่วนแมลงดำหนาม พบพื้นที่ระบาด 23 จังหวัด (ณ 30 ต.ค.67) ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ชลบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี สตูล สงขลา ตราด กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง สมุทรสงคราม จันทบุรี ปราจีนบุรี สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ระยอง สมุทรปราการ สระแก้ว และนครราชสีมา. -512 – สำนักข่าวไทย