กรุงเทพฯ 19 ธ.ค. – กรมทางหลวงชนบทเร่งทดสอบแบริเออร์ยางพารากลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ มั่นใจช่วยชาวสวนยางขายยางได้ราคา ใช้ยางดิบกว่าปีละ 2.5 หมื่นตัน ผลิตแบริเออร์ใช้ในงานทางมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เปิดเผยความคืบหน้าการใช้ยางพาราเป็นส่วนผสมในการซ่อมสร้างและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกความปลอดภัย เช่น เสาหลักนำทางแบริเออร์ที่หุ้มด้วยยางพารา(Rubber Fender Barrier) ว่า ขณะนี้การทดสอบในห้องแลปผ่านแล้วขั้นตอนต่อไปจะนำไปทดสอบยังประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งตามกำหนดการทดสอบจะประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพื่อสรุปผลการทดสอบตามมาตรฐานต่อไป ในส่วนของผลการทดสอบเร่งสภาวะของยางพารา RFB และการทดสอบคุณภาพของกาว (Neoprene) และคาดว่าจะทราบผลการทดสอบในเดือน มีนาคม 2563
ทั้งนี้ ตามแผนงานเดำเนินการ ทช.จะนำ Rubber Fender Barrier ที่ผ่านการทดสอบแล้ว มาใช้ในงานทางของ ทช.จริงได้ในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้น้ำยางดิบกว่า 25,000 ตัน หรือคิดเป็นมูลค่ายางดิบที่จะต้องซื้อจากชาวสวนยางกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อมาใช้ในโครงการดำเนินงานของ ทช.ที่มีมูลค่าในการดำเนินการโครงการกว่า 14,500 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังคาดว่าปีงบประมาณ 2564 ทช.จะต้องใช้น้ำยางดิบกว่า 25,000 ตัน เพื่อมาใช้ในงานเช่นกัน ซึ่งจะช่วยให้ชาวเกษตรกรชาวสวนยางได้มีช่องทางในการขายยางเพิ่มขึ้นด้วย
สำหรับตัวเลขงบประมาณปีงบประมาณ 2563 ทช.ได้รับจัดสรรมีวงเงินรวม 48,000 ล้านบาท แบ่งเป็นงบฯ ลงทุน 97% ซึ่งในส่วนนี้เป็นงบประมาณที่จะมาใช้ในการบำรุงทาง ที่เหลือเป็นงบดำเนินการ 3% ซึ่งในปี 2563 งบประมาณที่จัดสรรจะนำมาดำเนินการในโครงการเร่งด่วนคือ การสร้างผังเมืองใน 2 โครงการหลัก ๆ คือ ผังเมืองจังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 434 ล้านบาท และโครงการผังเมืองจังหวัดมหาสารคามวงเงิน 117 ล้านบาท นอกจากนี้ ปีนี้ ทช.จะต้องมีโครงการเร่งด่วนใช้งบประมาณค้างท่อในปี 2562 กว่า 80 โครงการ งบประมาณกว่า 2,000 ล้านบาท
ส่วนงบประมาณปี 2564 ขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดสรรโครงการจัดลำดับความสำคัญ โดยสำนักงบประมาณได้กำหนดว่าหากโครงการใดมีมูลค่าเกินกว่าพันล้านบาทขึ้นไป หน่วยงานจะต้องทำความจำเป็นของโครงการเสนอมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากได้รับการอนุมัติโครงการจึงจะสามารถมาบรรจุการใช้งบประมาณได้.-สำนักข่าวไทย