กรุงเทพฯ 6 ก.พ. – กรมทางหลวงชนบทเร่งกำหนด 3 แนวทาง แก้ปัญหา PM 2.5 โดยเฉพาะการตั้งจุดฉีดพ่นละอองน้ำดักจับฝุ่นในจุดที่ตั้งสะพานและถนนสายสำคัญ
นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า สำหรับมาตรการแก้ไขปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ซึ่งได้ดำเนินการ 3 มาตรการสำคัญ ทั้งการตั้งจุดฉีดละอองน้ำ 11 จุดในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และจะมีการขยายผลไปยังจังหวัดสำคัญที่ประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นในพื้นที่เขตทางของกรมทางหลวงชนบท กรณีมีการจุดเผาวัชพืชหรือเศษฟางข้าวต่าง ๆ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายขั้นสูงสุด และสุดท้ายคือมาตรการดูแลรถและยานพาหนะในสังกัดของกรมทางหลวงชนบททั่วประเทศไม่ให้มีปัญหามลพิษ จากการใช้งานและหากรถคันใดมีสภาพเก่าเกินที่จะควบคุมปัญหามลพิษก็ให้จำหน่ายออกจากระบบทันที
สำหรับการติดตั้งจุดพ่นละอองน้ำเพื่อดักฝุ่นมลพิษนั้น เป็นการติดตั้งระบบ High Pressure Water System การปล่อยละอองน้ำ เพื่อดักจับละอองฝุ่นบริเวณสะพานมหาเจษฎาบดินทรานุสรณ์ จังหวัดนนทบุรี รวมทั้งจุดอื่น ๆ เช่น บริเวณสะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะพานพระราม 7 สะพานภูมิพล ถนนราชพฤกษ์ กม.15+050 และถนนราชพฤกษ์ ช่วงทางต่างระดับสวนเลียบ โดยจะทำต่อเนื่องจนกว่าปัญหาฝุ่นมลพิษจะคลี่คลาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (6 ก.พ.) กรมทางหลวงชนบทและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการก่อสร้างในเขตทางหลวงชนบทและด้านการจัดการพลังงาน โดยอธิบดีกรมทางหลวงชนบท ระบุว่า กฟภ.เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าในเขตรับผิดชอบ 74 จังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันยังมีพื้นที่บางส่วนไม่สามารถก่อสร้างระบบไฟฟ้าได้ เช่น บนเกาะ สะพานข้ามแม่น้ำ หมู่บ้านที่ห่างไกลจากชุมชน ซึ่งต้องขออนุญาตจากกรมฯ และในส่วนของกรมฯ มีการก่อสร้างขยายถนน ซึ่งต้องมีการประสานงานกับ กฟภ.ในการย้ายแนวเสาไฟฟ้า เพื่อให้การดำเนินงานก่อสร้างเป็นไปตามแผนที่วางไว้
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนภารกิจของทั้ง 2 หน่วยงานให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของประชาชน จึงได้มีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวเกี่ยวกับการก่อสร้างในเขตทางหลวงชนบทและด้านการจัดการพลังงาน โดยทั้ง 2 หน่วยงานจะบูรณาการร่วมกันด้านบริหารจัดการงานในส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกัน สนับสนุนการประสานงาน แลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งบทบาทและกรอบในการร่วมมือทั้ง 2 ด้าน อาทิ ด้านการก่อสร้างในเขตทางหลวงชนบท การรื้อย้ายเสาไฟฟ้าพร้อมอุปกรณ์และทรัพย์สินทุกชนิดของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคในเขตทางหลวงชนบท การขออนุญาตปักเสา พาดสายในเขตทางหลวงชนบท โดยกรมฯ จะกำหนดตำแหน่งให้ตรงกับเขตทางหลวงในขั้นสมบูรณ์ เพื่อลดการรื้อย้ายเสาไฟฟ้าในอนาคต การก่อสร้างและปรับปรุงระบบอื่น ๆ ที่อยู่ในเขตทางหลวงชนบทที่อยู่ภายใต้การรับผิดชอบของ กฟภ.และ กรมฯ การดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจหลักของทั้ง 2 หน่วยงานด้านการจัดการพลังงาน
สำหรับระยะเวลาความร่วมมือบันทึกข้อตกลงนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ทั้ง 2 ฝ่ายลงนามในบันทึก หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้ง 2 ฝ่ายประสงค์จะยกเลิกบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ให้หน่วยงานที่ประสงค์จะทำการยกเลิกแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน โดยระบุวันที่ที่จะให้มีผลยกเลิกบันทึก และให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้เป็นอันสิ้นผลในวันที่ระบุในหนังสือบอกกล่าวล่วงหน้าดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย