นนทบุรี 14 ธ.ค.-อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศระบุการนำเข้ามะพร้าวภายใต้ AFTA ปี 62 ไม่กระทบราคาในประเทศแน่นอน เหตุเมืองไทยขาดแคลน และคุมเข้มการใช้ในโรงงานเท่านั้น
นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยถึงกรณีที่มีข้อกังวลเกี่ยวกับการอนุมัตินำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบ AFTA ว่า จะไม่มีผลผลกระทบต่อราคาในประเทศ เพราะผลผลิตในประเทศมีไม่เพียงพอ และยังมีมาตรการคุมเข้มและติดตามมะพร้าวที่นำเข้าอย่างเข้มงวด โดยต้องปฏิบัติตามประกาศกรมการค้าต่างประเทศอย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามนำมะพร้าวนำเข้าไปจ้างกะเทาะนอกโรงงาน ห้ามนำไปจำหน่าย จ่าย โอนภายในประเทศ ต้องรายงานบัญชีสมดุลแปรสภาพมะพร้าวผลเป็นเนื้อมะพร้าวขาว และนำเข้าได้เพียง 2 ด่านเท่านั้น คือ ด่านศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ และด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง เป็นต้น
ในส่วนของกรมฯจะออกหนังสือรับรองแสดงการได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีทั้งหมดหรือบางส่วนตามความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (แบบ ต.2) เพื่อประกอบการนำเข้าให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด และจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำกับดูแลและตรวจสอบการนำเข้ามะพร้าวภายใต้กรอบ AFTA สำหรับปี 2562 ในช่วง 20 วันที่เหลือ หรือภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 นี้ ให้เป็นไปตามมาตรการที่กรมการค้าต่างประเทศกำหนดอย่างเข้มงวด หากพบว่าผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กำหนด กรมฯ จะพิจารณาลงโทษตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืช ได้พิจารณาอนุมัติการนำเข้า เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา และคณะอนุกรรมการบริหารจัดการสินค้ามะพร้าว เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ได้เห็นชอบให้ผู้ประกอบการโรงงานแปรรูปมะพร้าวจำนวน 15 ราย นำเข้ามะพร้าวผลภายใต้กรอบ AFTA สำหรับเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2562 ในปริมาณไม่เกิน 32,543 ตัน เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศขาดแคลน
นอกจากนี้ จากการใช้มาตรการนำเข้าที่เข้มงวดข้างต้น ส่งผลให้ราคามะพร้าวผลในประเทศในปัจจุบันขยับตัวสูงขึ้นมาก มีข้อมูลจากกรมการค้าภายใน ระบุว่า ราคามะพร้าวผลใหญ่ที่เกษตรกรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ขายได้ ณ วันที่ 11 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ 22–23 บาทต่อผล และผลกลาง 11–14 บาทต่อผล เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่ผลใหญ่ขายได้เพียง 6–7 บาทต่อผล และผลกลาง 3–4 บาทต่อผลเท่านั้น.-
สำหรับช่วงเดือนมกราคม – ตุลาคม 2562 ประเทศไทยยังไม่มีการอนุมัติให้นำเข้ามะพร้าวผลภายใต้กรอบความตกลง AFTA มีเพียงการนำเข้าภายใต้กรอบความตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) อัตราภาษีร้อยละ 54 โดยในปี 2562 มีการนำเข้ารวม 112,130 ตัน ลดลงร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีการนำเข้าถึง 197,054 ตัน –สำนักข่าวไทย