สำนักข่าวไทย 14 ธ.ค.-รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยฯ จับมือต่อยอดนวดไทย เป็น Excellent center หลังยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรม พร้อมดันใช้ “Nuad Thai” แทน “Thai massage” ให้ชาวต่างชาติติดหู เหตุเพราะคนใช้ผิดประเภท
จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ขององค์การยูเนสโก สมัยที่ 14 ณ กรุงโบโกตา ประเทศโคลัมเบีย มีมติให้ขึ้นทะเบียน ‘นวดไทย (Nuad Thai, Traditional Thai Massage)’ ใน ‘บัญชีรายชื่อตัวแทนมรดกวัฒนธรรม ที่จับต้องไม่ได้แห่งมวลมนุษยชาติ” นั้น
เภสัชกรหญิงผกากรอง ขวัญข้าว หัวหน้าศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า โรงพยาบาลฯ พร้อมต่อยอดด้วยการตั้ง Excellent Center ด้านการแพทย์แผนไทยร่วมกับกรมการแพย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยมีประเด็นการพัฒนาการนวดด้วย เนื่องจากการนวดอยู่ในวัฒนธรรมและยังมีแนวคิดทฤษฏีที่ชัดเจน โดยจะพัฒนาการนวดในทุกระดับ ทั้งเพื่อดูแลสุขภาพตนเอง นวดเพื่อการพึ่งตนเองในชุมชน นวดเพื่อการรักษา หรือแม้กระทั่งนวดที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ เพื่อพัฒนาเป็นโปรดักส์ แชมเปี้ยน เช่น การนวดนักกีฬา การนวดกระตุ้นพัฒนาการเด็ก
เภสัชกรหญิงผกากรอง กล่าวต่อว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังหาตัวโปรดักส์ แชมเปี้ยน ซึ่งจะดึงให้นำมีการนำโปรดักส์เกี่ยวกับการนวดเข้าไปอยู่ในตลาดด้วยเช่น ลูกประคบ น้ำมันนวด นอกจากนี้อยากรณรงค์ให้เปลี่ยนการเรียกจาก Thai massage เป็น Nuad Thai หรือ นวดไทยไปเลย เหมือนประเทศจีนที่เรียก“ทุยนา”เนื่องจากในต่างประเทศก็มีการเปิดสอนThai massage แต่เจ้าของไม่ใช่คนไทย จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิด รวมถึงการนำไปใช้ผิดประเภท จึงควรใช้คำว่านวดไทย ฝรั่งก็จำกันจนติดหูไปเอง
เภสัชกรหญิงผกากรอง กล่าวด้วยว่า อยากให้นวดไทยคงอยู่ จึงจะร่วมกับ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะพัฒนา Excellent Center เพื่อขับเคลื่อนและรื้อฟื้นองค์ความรู้เรื่องนวดไทย โดยที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับ ผศ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิสาธารณสุขเพื่อการพัฒนา และครูหมอนวดผู้เชี่ยวชาญ จนสามารถพัฒนาจนได้แบบแผนการนวดเป็นของตัวเอง คือ “นวดไทยอภัยภูเบศร” จนปัจจุบันสามารถและถ่ายทอดไปสู่เอกชนแล้ว
“วันนี้แม้อาจารย์สำลีจะล่วงลับไปแล้วแต่พวกเราจะทำงานเหล่านี้ต่อ เพราะเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม สุขภาพและเศรษฐกิจ ได้จัดโครงการ “เด็กกตัญญูรู้คุณแผ่นดิน” โดยการสนับสนุนของจังหวัดปราจีนบุรี ให้เด็กมาเรียนรู้การนวดเพื่อให้เด็กได้ใช้เวลากับครอบครัวให้เยอะขึ้น นอกจากจะมีความรู้กลับไปดูแลพ่อแม่ปู่ย่าตายายได้ เด็กบางคนนวดดี ยังสามารถหารายได้พิเศษได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านให้อยู่คู่กับชุมชนต่อไป โดยการรวบรวมองค์ความรู้นวดพื้นบ้านฝึกอบรมคนในชุมชนให้ดูแลสุขภาพกันเองในเบื้องต้น โดยไม่จำเป็นต้องมาโรงพยาบาล คนนวดก็จะมีรายได้ด้วย” เภสัชกรหญิงผกากรอง กล่าว
ขณะเดียวกันก็จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย ร่วมกับการนวด เช่น มัสคุล สเปรย์ ซึ่งได้รับรางวัน ข้างเคียง มัส PMSA Prime Minister Herbal Award 2017 ซึ่งถือเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นของภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
สำหรับ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร นำเรื่องการนวดเข้ามาช่วง 2540-2542 โดยร่วมกับมูลสาธารณสุขเพื่อการพัฒนา โดยมี ผศ.สำลี ใจดี ประธานมูลนิธิฯ ในขณะนั้น แม้จะล่วงลับไปแล้วก็ตาม แต่โรงพยาบาลฯ ก็ยังทำต่อ เพื่อนำการนวดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทุกระดับ .-สำนักข่าวไทย