5 ต.ค. – กรมการแพทย์แผนไทยฯ ห่วงใยผู้ป่วย NCDs แนะเคล็ดลับดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์แผนไทย ห่างไกลโรค ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ห่วงใยผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และ ไขมันในเลือดสูง แนะนำเคล็ดลับการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ให้ห่างไกลโรค ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ
นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ช่วงเทศกาลถือศีลกินเจเป็นหนึ่งในประเพณีของชาวไทยเชื้อสายจีน โดยจะปฏิบัติตนด้วยการรักษาศีล ปฏิบัติตามหลักธรรม และงดเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ และผักที่มีกลิ่นฉุน ซึ่งอาหารเจส่วนใหญ่มักจะเป็นอาหารกลุ่มจำพวกแป้ง และไขมัน เป็นหลัก หากรับประทาน ในปริมาณที่มากเกินไปอาจส่งผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่ป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยมีหลักการดูแลสุขภาพช่วงเทศกาลถือศีลกินเจ โดยแนะนำให้รับประทานพืชผักสมุนไพรใกล้ตัวในผู้ป่วยกลุ่มอาการดังกล่าว เช่น กระเจี๊ยบแดง บัวบก ใบเตย ตะไคร้ มะระขี้นก ผักเชียงดา ชะพลู ตำลึง และ ตำรับตรีผลา เป็นต้น
สำหรับการรับประทานอาหารเจ มีข้อพึงระวังในผู้ป่วยหรือผู้ที่กำลังพักฟื้นร่างกาย ไม่เหมาะที่จะรับประทานอาหารเจ เนื่องจากร่างกายต้องการสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อมาซ่อมแซมส่วนต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงเด็กเล็กและหญิงตั้งครรภ์ เพราะเป็นช่วงที่ต้องการสารอาหารให้ครบถ้วนในการเจริญเติบโต นอกจากหลักการเลือกรับประทานอาหารเจแล้ว ควรออกกำลังกายตามความเหมาะสมของสภาพร่างกายเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ในช่วงเทศกาลกินเจ พร้อมทั้งทำจิตใจให้สงบดำเนินชีวิตตามหลักศีลธรรม ก็จะช่วยให้ท่านมีสุขภาพกาย ใจ ที่แข็งแรง ในช่วงเทศกาลกินเจ
นายสมศักดิ์ กรีชัย ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กล่าวว่า โรคความดันโลหิตสูง สมุนไพรที่ช่วยลดความดันโลหิต ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง บัวบก ใบเตย และตะไคร้ โรคเบาหวาน ควรรับประทานสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ได้แก่ มะระขี้นก เนื่องจากในมะระขี้นกมีสาร charantin สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน และเสริมการเผาผลาญน้ำตาลในเลือด นอกจากมะระขี้นกแล้ว ยังมีพืชสมุนไพรพื้นบ้านชนิดอื่น ที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน ได้แก่ ผักเชียงดา ชะพลู ตำลึง สำหรับ เมนูอาหารที่แนะนำ เช่น ผัดมะระขี้นกเห็ดหอม ยำมะระขี้นก ในส่วนข้อควรระวังของมะระขี้นก ไม่ควรนำผลมะระขี้นกสุกมารับประทาน เพราะจะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนได้ การนำสมุนไพรมาใช้เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรหมั่นตรวจดูระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ โรคไขมันในเลือดสูง แนะนำ ตำรับตรีผลา เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ ประกอบด้วย ผลไม้ 3 อย่าง ได้แก่ สมอไทย สมอพิเภก และมะขามป้อม สรรพคุณ ช่วยลดไขมันในเลือด ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ จากข้อมูลการศึกษาวิจัยทั้งในห้องปฏิบัติการในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ ได้ผลออกมาในทิศทางเดียวกันคือ เมื่อคนที่มีระดับไขมันในเลือดสูง รับประทานยาสมุนไพรตรีผลา 1,000 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลา 1 เดือน พบว่าระดับของไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอล แอลดีแอล (ไขมันชนิดไม่ดี) และโคเลสเตอรอลรวม ลดลงเห็นผลจริง อย่างมีนัยสำคัญ. -411 สำนักข่าวไทย