กรุงเทพฯ 6 ธ.ค. – ความกังวลเศรษฐกิจและการเมือง ฉุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในรอบ 67 เดือน ม.หอการค้าไทยระบุเศรษฐกิจปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้น คาดขยายตัวร้อยละ 3.1 แนะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 6-9 บาท หวั่นขึ้นมากเป็นแรงกดดันชะลอจ้างงานกระทบบัณฑิตใหม่
นายปรีดา โพธิ์ทอง รองผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2562 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 69.1 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 67 เดือน นับตั้งแต่ปี 2559 ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบันปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 จากระดับ 46.5 ในเดือนตุลาคม 2562 มาอยู่ในระดับ 45.2 ในเดือนพฤศจิกายน 2562 ต่ำสุดในรอบ 218 เดือน หรือ 18 ปี 2 เดือนนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2544
แม้ว่ารัฐบาลเริ่มมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมามากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเมืองทั้งปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ ยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อของประชาชนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมากนัก ประกอบกับสถานการณ์ไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และปัญหา Brexit รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่ง ส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง สะท้อนความไม่ไว้ใจเศรษฐกิจ ซึ่งจากการประชุมหอการค้าทั่วประเทศ พบว่า เอกชนส่วนใหญ่สะท้อนออกมาว่า ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ระดับเงินเฟ้อยังต่ำ สัญญาณจ้างงานเพิ่มขึ้นไม่มาก สะท้อนกำลังซื้อผู้บริโภคไม่โดดเด่น ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. จึงได้เสนอให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายธนวรรธน์ คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2563 จะปรับตัวดีขึ้น โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.1 เป็นการเติบโตในช่วงร้อยละ 2.7-3.6 ค่ากลาง 3.1 ด้านการส่งออกจะกลับมาโตเป็นบวกร้อยละ 1.8 โดยยังมองว่า ไม่มีข่าวเชิงลบในเรื่องสงครามการค้า โดยฝ่ายจีนระบุว่าอยากให้สหรัฐลดภาษีนำเข้า ขณะที่สหรัฐอยากให้จีนเปิดตลาดสินค้าเกษตร ดังนั้น วันที่ 15 ธันวาคมนี้ เชื่อว่าสหรัฐไม่น่าจะมีการขึ้นภาษีนำเข้าอีกระลอก ด้านญี่ปุ่นอัดฉีดเศรษฐกิจวงเงิน 3.1 ล้านล้านเยน หลายประเทศเริ่มใช้นโยบายการคลังเพิ่มเติม ซึ่งประเทศไทยก็ใช้นโยบายการเงินเข้ามาเสริม ขณะที่นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ ฟื้นปลายไตรมาสแรกปีหน้า ด้านรัฐบาลสามารถผ่านงบประมาณได้ คาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายงบประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พร้อมมีการเร่งเบิกจ่ายงบประจำ งบลงทุน ซึ่งน่าจะเป็นเครื่องจักรสำคัญ ทำให้เศรษกิจมีบรรยากาศที่คลี่คลายลง
ส่วนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำจากที่อยู่ในระดับเฉลี่ยวันละ 330 บาทนั้น หากพิจารณาเงินเฟ้อของไทยที่อยู่ในระดับร้อยละ 1 เศษ ดังนั้น การจะปรับค่าแรงขั้นต่ำร้อยละ 6-15 เป็นกรอบที่ดำเนินการได้ เพราะสอดคล้องกับเงินเฟ้อ แต่ต้องพิจารณาตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการไตรภาคี และที่สำคัญต้องรับฟังความเห็นของภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม การปรับค่าจ้างขั้นต่ำควรปรับเพิ่ม 6-9 บาท ไม่ควรปรับเพิ่มวันละ 10 บาท เพราะระดับต่ำกว่า 10 บาท น่าเป็นระดับที่ภาคเอกชนพร้อมจ่ายมากขึ้น และสามารถประคองการจ้างงานเอาไว้ได้
และน่าเป็นผลบวกมากกว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 10-15 บาท และหากมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำขึ้นไประดับ 10 บาทขึ้นไป จะทำให้ค่าแรงขั้นต่ำจะเพิ่มเป็นวันละ 340-345 บาท ทำให้ฐานเงินเดือนลูกจ้างในภาพรวมจะต้องถูกปรับขึ้นตามไปด้วย และเป็นแรงกดดันให้มีการชะลอการจ้างงาน กระทบบัณฑิตใหม่ได้รับการจ้างงานลดลง อีกทั้งเป็นปัจจัยเร่งให้ภาคเอกชนนำเครื่องจักรเข้ามาใช้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ภาคเหนือมีประชากรผู้สูงอายุสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 20 แล้ว ภาคเอกชนเริ่มนำเครื่องจักรเข้ามาแทนแรงงานคนมากขึ้นแล้ว.-สำนักข่าวไทย