รพ.รามาฯ 4 ธ.ค.-รพ.รามาฯร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ลงนามความร่วมมือ ธนาคารชีวภาพ เพื่อการรักษามะเร็งแบบครบวงจร หวัง ช่วยเป็นฐานข้อมูลการรักษาในอนาคต ช่วยให้เกิดการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ หรือแบบเฉพาะเจาะจง เพราะในผู้ป่วยมะเร็งบางคนไม่จำเป็น ต้องรักษาเหมือนกัน
ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และนพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ลงนามข้อความร่วมมือด้านธนาคารชีวภาพเพื่อโรคมะเร็งแบบครบวงจร ว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะนำข้อมูลระหว่างสถาบันมะเร็ง และ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาศึกษาถึงเซลล์มะเร็ง และเนื้อเยื่อ รวมถึงเลือดของผู้ป่วยเพื่อหาทางการการรักษามะเร็ง และการรับยาให้ตรงกับโรคแบบรายบุคคล หรือที่เรียกว่า การรักษาแบบจำเพาะเจาะจง เพราะทุกการรักษามะเร็ง ไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรือ คีโมเหมือนกันหมด
ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่า ทางโรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทยอยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งในผู้ป่วยมาตั้งแต่ปี 2555 ได้จำนวน 2,000 ตัวอย่าง เพราะโรคมะเร็งในผู้ป่วยรายใหม่ของโรงพยาบาล มีจำนวนมากเฉลี่ยปีละ 3,800 คน ซึ่งกลุ่มโรคมะเร็งที่ได้มีการทยอยเก็บ มี 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ เต้านม ,ลำไส้ใหญ่ ,ปอด โดยจะเก็บต่อเมื่อ ผู้ป่วยมีก้อนมะเร็งที่จำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยและไม่กระทบต่อการรักษา ซึ่งจะทำให้ทราบความแตกต่างระหว่างมะเร็งที่คนไทยเป็นกับตำราต่างชาติเพราะบางจุดที่ข้อมูลทางการแพทย์พบในต่างชาติกไม่พบในคนไทยและมะเร็งที่คนไทยป่วยก็ไม่พบในต่างชาติ เพื่อเป็นฐานข้อมูลหรือบิ๊กดาต้าในการรักษาโรคมะเร็งในอนาคต ซึ่งสามารถบอกรายละเอียดทั้งชนิดเซลล์มะเร็ง อาการ จุด ตำแหน่งที่พบและยาที่เหมาะสมในการรักษา เพราะผู้ป่วยบางคนอาจได้รับการรักษาไม่เหมือนกัน โดยขณะนี้มีความต้องการ ศึกษามะเร็งไทรอยด์ และมะเร็งผิวหนัง
นพ.วีรวุฒิ กล่าวว่า การศึกษาข้อมูลของโรคมะเร็งนี้จะเกิดประโยชน์ในภาพรวม ทำให่ได้ข้อมูลการรักษามะเร็งมากขึ้นและในอนาคตสามารถนำมาใช้ในการรักษามะเร็งแบบเฉพาะบุคคล เพราะสามารถได้ข้อมูลถึงระดับดีเอ็นเอ หน้าตาของมะเร็ง ยา ซึ่งคนไข้จะได้ประโยชน์สูงสุด .-สำนักข่าวไทย