กรุงเทพฯ 20 พ.ย. – กรมทางหลวงลุ้นลดค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ 5% ผู้ใช้บัตร M-Pass หลังส่งกฤษฎีกาตีความไม่ผิดวัตถุประสงค์กองทุนมอเตอร์เวย์
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ภายหลังได้ขอความร่วมมือดอนเมืองโทลเวย์ปรับลดค่าผ่านทาง โดยจำหน่ายคูปองส่วนลด 5% ต่อเล่ม เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชนไปแล้ว กรมทางหลวงยังมีแนวทางที่จะลดค่าผ่านทางทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์อีก 5% ซึ่งจะเป็นการลดเฉพาะในส่วนของผู้ใช้บัตร M-Pass นอกจากเป็นการช่วยลดภาระของผู้ใช้ทางแล้ว ยังเป็นการจูงใจให้ประชาชนผู้ใช้ทางหันมาใช้การชำระค่าผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาจราจรหน้าด่าน
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการปรับลดราคาดังกล่าวยังมีขั้นตอนของกฎหมาย โดยกรมทางหลวงได้ส่งหนังสือไปหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่า การลดค่าผ่านทางดังกล่าวไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนมอเตอร์เวย์ รวมถึงประเด็นที่มีการลดราคาจะทำให้ผู้ผ่านทางที่ใช้เงินสดกับใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เสียค่าผ่านทางไม่เท่ากันขัดข้อกฎหมายหรือไม่ โดยจะรอคำตอบที่ชัดเจนจากกฤษฎีกาอีกครั้ง
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ผ่านมากรมทางหลวงได้ลดเงินสำรองค่าสมัครใช้ M-pass เหลือ 300 บาท และ ลดการเติมเงินขั้นต่ำเหลือ 100 บาท ส่วนลดภาระค่าครองชีพด้วยการลดราคาค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ เพื่อจูงใจให้คนมาใช้ระบบบัตรอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น โดยกรมทางหลวงตั้งเป้าหมายในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ 4 ล้อที่พักด่านบนมอเตอร์เวย์ 589,768 คันต่อวันในส่วนของมอเตอร์เวย์สาย 7 กรุงเทพฯ-พัทยา และสาย 9 ช่วงบางปะอิน- บางพลี และช่วงบางขุนเทียน-พระประแดง รวมถึงกรมทางหลวงอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการจัดเก็บค่าผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น ซึ่งจะเริ่มดำเนินการเส้นทางมอเตอร์เวย์สาย 9 วงแหวนกาญจนาภิเษก (ตะวันออก) เป็นเส้นทางแรก คาดเริ่มใช้ปีงบประมาณ 2563 เช่นเดียวกัน
ส่วนนโยบายการกำหนดอัตราความเร็วถนน 4 ช่องจราจรขึ้นไป ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. (เลนขวา)ผลการศึกษาความปลอดภัยด้านวิศวกรรม พบว่าสามารถดำเนินการนำร่องได้บนทางหลวงหมายเลข 32 (สายเอเชีย) ระยะทาง 50 กิโลเมตร ภายในปีงบประมาณ 2563 เป็นลำดับแรก และจะขยายจนครบทั้งเส้น 150 กิโลเมตร ในปีงบประมาณ 2564 โดยจะใช้งบประมาณประมาณ 600 ล้านบาท ปรับปรุงจุดกลับทั้งหมด 44 โดยให้เป็นจุดกลับรถทางลอด 35 แห่ง เพื่อความปลอดภัยก่อนขยายการศึกษาระยะถัดไปบนเส้นทางสายอื่น ๆ ต่อไป
“ย้ำว่าการใช้งบประมาณ 600 ล้านบาทนี้ไม่ได้เป็นการลงทุนเพื่อสนับสนุนนโยบาย เพื่อให้รถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชั่วโมง แต่เป็นการพัฒนาจุดกลับรถจุดต่าง ๆ ให้มีมาตรฐานและเกิดความปลอดภัยกับผู้ใช้ทางมากขึ้น” นายสราวุธ กล่่าว.-สำนักข่าวไทย