กรุงเทพฯ 6 พ.ย. – นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยระบุสตอกวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศมี 2 เดือน หลังประกาศยกเลิก 3 สารมีผลจะไม่สามารถนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลี ชี้โรงงานอาหารสัตว์ต้องปิดตัวใน 2-3 เดือน ระบบห่วงโซ่อาหารพังถึงขั้นต้องนำเข้าหมู ไก่ ไข่ และกุ้งจากต่างประเทศ พ้อทำหนังสือถึงนายกฯ และรัฐมนตรี 4 กระทรวง แต่ไม่มีใครฟัง
นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตะนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อนำเสนอผลกระทบเรื่องการเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากการแบน 3 สารเคมี โดยระบุว่า ตามมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่กำหนดให้พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอสเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต นำเข้า ส่งออก และครอบครอง จะทำให้การนำเข้าสินค้าเกษตรต้องกำหนดค่าตกค้างของสาร 3 ชนิด ต้องเป็น 0% ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยนำเข้าถั่วเหลือง กากถั่วเหลือง และข้าวสาลีปีละกว่า 7 ล้านตัน โดยนำเข้าจากประเทศที่ใช้สารไกลโฟเซตทั้งสิ้น ดังนั้น การแบนสารเคมี 3 ชนิดจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบทันที จึงขอทราบความชัดเจนถึงแนวทางปฏิบัติในการนำเข้าและมาตรการรองรับ เนื่องจากธุรกิจอาหารสัตว์ ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบจะเสียหายอย่างมหาศาล คิดเป็นมูลค่ากว่า 800,000 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 200,000 ล้านบาท อีกทั้งจะทำให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างงานและปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา โดยส่งหนังสือไปตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน แต่ยังไม่ได้รับคำตอบใด ๆ
นายพรศิลป์ กล่าวว่า จากสตอกวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ที่มีอยู่ในประเทศจะรองรับการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร และกุ้งได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น หากรัฐบาลไม่มีแผนรับมือ ธุรกิจเหล่านี้จะล่มสลาย จากที่เป็นผู้ผลิตเนื้อสุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และกุ้ง ไทยต้องเปลี่ยนเป็นผู้นำเข้า อีกทั้งการนำเข้าต้องมีใบรับรองว่า เนื้อสัตว์เหล่านั้นไม่ได้เลี้ยงด้วยอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบที่ใช้ไกลโฟเซต อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทยใช้กากถั่วเหลืองเป็นโปรตีน 24-25 % แต่ถั่วเหลืองที่นำเข้าใช้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและบริโภคด้วย ส่วนข้าวสาลีส่วนหนึ่งเป็นอาหารสัตว์ แต่อีกส่วนหนึ่งใช้ในอุตสาหกรรมอาหารคน เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ขนมปัง เบเกอรี่ต่าง ๆ เป็นต้น จึงกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหาร ตลอดจนเกิดปัญหาการเลิกจ้างงาน และปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมาแน่นอน
นายพรศิลป์ กล่าวต่อว่า การตัดสินใจของรัฐบาลที่แบนสารเคมี 3 ชนิดนี้ ไม่ได้พิจารณาถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากไม่ได้เป็นเพียงเรื่องภายในประเทศ แต่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ ล่าสุดสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยแจ้งให้ประเทศบราซิลขอใบรับรองค่ามาตรฐานสารตกค้างของไกลโฟเซตในถั่วเหลืองนำเข้าที่จะต้องเป็น 0% ตามกฎหมายไทย ซึ่งทูตเกษตรประจำสถานทูตบราซิลระบุว่าไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของสมาคมฯ ได้ เนื่องจากเมล็ดถั่วเหลืองของบราซิลมีปริมาณไกลโฟเซตตกค้างอยู่ที่ 10 ppb (ส่วนในพันล้านส่วน) ซึ่งต่ำกว่าค่าความปลอดภัยทางด้านอาหารตามคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) กำหนดไว้ที่ 20 ppb ดังนั้น บราซิลจะนำเรื่องนี้ไปหารือในองค์การการค้าโลก (WTO) ว่า เป็นประเด็นกีดกันทางการค้าหรือไม่ คาดว่าสหรัฐอเมริกาและแคนาดาส่งออกถั่วเหลืองและข้าวสาลีมายังไทยจะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือด้วย นอกจากนี้ ไทยยังนำเข้าข้าวสาลีจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และยูเครน ซึ่งต้องติดตามท่าทีของประเทศเหล่านี้ต่อไป
สำหรับแนวทางการหารือ WTO นั้น ประเทศคู่ค้าจะเสนอให้ไทยนำผลพิสูจน์ทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ไทยวิเคราะห์เองมายืนยันว่าปริมาณสารตกค้างไกลโฟเซตในปริมาณ 10-20 ppb ตามที่ Codex กำหนดนั้นนั้น มีอันตรายต่อการบริโภคอย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่ขององค์การอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุขที่ต้องเร่งดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนและชัดเจน
“ทันทีที่การยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดมีผลบังคับใช้ ต้องห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ใช้ 3 สารนี้แน่นอน ไม่เช่นนั้นจะไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรไทย อีกทั้งผู้บริโภคจะไม่ได้รับประโยชน์อะไร หากยังนำเข้าสินค้าที่ใช้สารเคมีที่ไทยยกเลิก เห็นชัดเจนว่าการตัดสินใจด้านนโยบายยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดนี้ รัฐไม่ได้มองผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาให้รอบด้าน หากผู้บริหารประเทศรับข้อมูลที่ผิด ไม่มีทางที่จะตัดสินใจได้ถูกต้อง” นายพรศิลป์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย