กัวลาลัมเปอร์ 30 ต.ค.- นักวิชาการมาเลเซียชี้ว่า สมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนจะต้องดำเนินมาตรการที่กล้าหาญและได้ผลด้วยการเพิ่มความร่วมมือทางการค้าเพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าจีนและสหรัฐที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะมีทางออก
นายคาลวิน เฉิง นักวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษามาเลเซียเผยกับสำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซียว่า อาเซียนควรทำให้ความตกลงอย่างก้าวหน้าและครอบคลุมเพื่อการเป็นหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิกหรือซีพีทีพีพี (CPTPP) แล้วเสร็จหรือขยายให้กว้างขึ้นจาก 11 ประเทศในปัจจุบัน และเร่งสรุปความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรืออาร์เซ็ป (RCEP) ระหว่างอาเซียนกับคู่ค้า 6 ประเทศให้แล้วเสร็จ ขณะเดียวกันจะต้องหาทางเพิ่มการค้าและการรวมตัวภายในอาเซียนด้วยการทำให้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี (AEC) แข็งแกร่งและลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะวิธีที่สมาชิกอาเซียนจะลดผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐได้ที่สุดคือ ขยายและกระชับการรวมตัวในภูมิภาคกับภูมิภาคอื่นนอกเหนือจากสหรัฐ คงการเปิดกว้างทางการค้าควบคู่ไปกับการแก้ไขผลเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้น
ขณะเดียวกันนายเฉิงมองว่า สงครามการค้าจีน-สหรัฐเป็นโอกาสให้สมาชิกอาเซียนเร่งปฏิรูปภายในประเทศและทยอยปรับปรุงศักยภาพด้านการผลิตและเทคโนโลยี ยุทธศาสตร์นี้จะทำให้นโยบายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อนการยกระดับอุตสาหกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการส่งเสริมนวัตกรรมท้องถิ่น อีกทั้งยังจำเป็นต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนจากบริษัทที่กำลังหาทางกระจายฐานการผลิตหลังเกิดสงครามการค้า เขาเชื่อว่ามาเลเซียกำลังเร่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์นี้อยู่
นายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัดของมาเลเซียเคยเรียกร้องให้อาเซียนเพิ่มการค้าภายในภูมิภาคที่ปัจจุบันมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 25 ของการค้าทั้งหมดของอาเซียน เทียบกับสหภาพยุโรปหรืออียูและสหภาพอเมริกาเหนือที่มีการค้าภายในภูมิภาคมากถึงร้อยละ 40-50 ของการค้าทั้งหมดของภูมิภาคนั้น ๆ.- สำนักข่าวไทย