ตลท. 22 ต.ค. – ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเร่งสร้างความเข้าใจ กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวภายในงานสัมมนา “TDPG 2.0: Building Trust with Data Protection” ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดขึ้น ณ หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 บุคคลต่างๆ ภาคธุรกิจ และองค์กร จึงต้องมีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะเกี่ยวพันกับการใช้ชีวิตประจำวัน และการทำธุรกิจโดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2562 และมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 โดยกฎหมายฉบับนี้มีเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรการเยียวยาเจ้าของข้อมูลจากการถูกละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ มีการล่วงละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อน เสียหายให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้การเก็บรวบรวม การใช้และการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล อันเป็นการล่วงละเมิดดังกล่าวกระทำได้โดยง่าย สะดวก และรวดเร็ว ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
ขณะที่ สิ่งที่สำคัญที่สุดของธุรกิจไทย คือ การปรับตัวรองรับยุคดิจิทัล ซึ่งทุกคน ทุกธุรกิจควรรีบปรับตัว เพื่อสร้างโอกาสให้กับตนเองและธุรกิจควบคู่กันไปด้วย พร้อมย้ำว่า สิ่งที่คนไทยจะได้รับจากกฎหมายฉบับนี้ คือ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ขณะเดียวกันช่วยปลดล็อกให้ธุรกิจและหน่วยงานรัฐสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ภายใต้มาตรฐานสากล แก้ปัญหาการไม่สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้เท่าที่ควร . – สำนักข่าวไทย