กทม.15 ต.ค.-บอร์ดการเคหะฯ เดินหน้า 10 มาตรการเร่งด่วน ปรับคุณภาพมาตรฐานและภาพลักษณ์การเคหะ ล้างภาพบ้านเอื้ออาทรในอดีต ยกระดับสู่องค์กรคุณภาพ ตั้งเป้าเห็นผลเร็วสุดภายใน 30 วัน
นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท เข้าพบและแสดงความยินดีกับนายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่
นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า ในโอกาสที่ได้รับการแต่งตั้งให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นการสรรหาตามกฏหมายใหม่ ซึ่งใช้เวลา กระบวนการคัดเลือกค่อนข้างนานทำให้ตนและกรรมการทั้งชุดมีเวลาในการศึกษาข้อมูลรวมทั้งปัญหาต่างๆของการเคหะแห่งชาติ และทันทีที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่1 ต.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดนี้ก็ได้เริ่มทำงานทันที โดยได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารของการเคหะแห่งชาตินัดแรกในวันที่ 4 ต.ค.เพื่อรับฟังปัญหาและแนวทางการบริหารงานของการเคหะแห่งชาติ ซึ่งพบว่ายังคงมีปัญหาสะสมหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหามาตรฐาน สภาพโครงการ สิยทรัพย์คงค้างจำนวนมาก รวมทั้งต้องเร่งมือในการพัฒนาโครงการต่างๆเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน จึงได้มีนโยบาย เร่งด่วน10มาตรการ หรือ BIG BANG แบ่งเป็น3 กลุ่มย่อย
โดยกลุ่มแรกเป็นการลงทุนเพื่อประชาชน ได้ให้แนวทางกับผู้บริหารการเคหะแห่งชาติไปศึกษาหรือหาเทคโนโลยีก่อสร้างแบบใหม่ที่มีความเหมาะสม ทั้งด้านคุณภาพและราคาเพื่อยกระดับมาตรฐานโครงการบ้านการเคหะให้มีคุณภาพดีสมเหตุสมผล เปลี่ยนภาพลักษณ์จากบ้านคุณภาพต่ำบ้านที่มีปัญหาและมีการร้องรียนมาโดยตลอดให้เป็นบ้านแบบสมาร์ทโฮมออกแบบสวยงามยกระดับมาตรฐานแนวคิดการสร้างเพื่อประชาชน โดยจะไม่มีคำว่าบ้านเอื้ออาทรสำหรับผู้มีรายได้น้อยอีกต่อไป โดยพยายามจะให้เห็นผลภายในปีนี้
ขณะเดียวกันจะเร่งรัดกระบวนการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเชิญบริษัทผู้เชี่ยวชาญการก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อประชาชน มาร่วมลงทุนในโครงการรัฐเอกชนร่วมทุน (PPP) จำนวน 13 โครงการ หมดแล้วค่ารวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท รวมโครงการที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการชุดใหม่อีก 5-7 โครงการ เพื่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยให้มีจำนวนมากขึ้นและตอบสนองประชาชนในแต่ละกลุ่มให้มากที่สุด ซึ่งในปี 2561 มีโครงการที่ผ่านกระบวนการรัฐเอกชนร่วมลงทุน5 โครงการขนาดใหญ่ เช่นโครงการพัฒนาพื้นที่แฟลตดินแดงมูลค่า 3.9 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้คณะกรรมการชุดนี้ยังให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องการแก้ปัญหาที่สะสมมาเป็นเวลานาน โดยอันดับแรกจะจัดการกับสินทรัพย์เสื่อมสภาพ ซึ่งเป็นที่ดินจำนวน 4,442 ไร่ มูลค่ากว่า 7,700 ล้านบาท และดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับผู้ก่อความเสียหายทุกกรณีโดยเฉพาะโครงการเอื้ออาทรที่ล้มเหลวและมีการทุจริต รวมทั้งเร่งจำหน่ายที่อยู่อาศัยคงค้างซึ่งมีจำนวน 21,000 หน่วย มูลค่ากว่า 24,000 ล้านบาท โดยจะร่วมมือกับส่วนราชการต่าง ๆ ซึ่งมีความต้องการที่อยู่อาศัยหรือภาคเอกชนเข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายทรัพย์สินอย่างเร่งด่วนพร้อมเจรจาสถาบันการเงินเพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อระบายสินทรัพย์คงค้างให้อย่างเร็วที่สุด
และสุดท้ายเป็นมาตรการที่จะยกระดับมาตรฐานของการเคหะ โดยการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของการเคหะให้เป็นหน่วยงานที่สร้างบ้านคุณภาพเทคโนโลยีสูงและราคาประชาชนผู้มีรายได้น้อยและคนชั้นกลางเข้าถึงได้ ซึ่งส่วนนี้จะใช้มาตรการ จัดการระบบภายในเพื่อแก้ปัญหาการก่อสร้างและนิติบุคคลที่ไม่ได้มาตรฐานอย่างเด็ดขาดโดยจะมีการจัดลำดับผู้รับจ้างชั้นดี ชั้นกลางและไม่ได้มาตรฐานไม่ให้รับงานจากการเคหะและจัดระบบการจ้างงาน การตรวจรับงานภายในองค์กรให้เข้มงวดโปร่งใสตรวจสอบได้ รวมทั้งส่งเสริมตลาดชุมชนของการเคหะให้ได้มาตรฐานเพื่อกระจายเศรษฐกิจสู่ฐานราก
ทั้งนี้ เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาที่สั่งสมมานานให้เห็นผลได้ในระยะเร่งด่วน 30 วัน 60 วันและ 90 วัน และจะนำมาตรการ 10 มาตรการเร่งด่วนนี้ เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนัดที่2 ในวันที่ 18 ตุลาคมนี้เพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติร่วมกันกับผู้บริหารและชาวการเคหะแห่งชาติและประกาศต่อประชาชนต่อไป.-สำนักข่าวไทย