เพชรบูรณ์ 10 ต.ค. – หลังจากสำนักข่าวไทยได้เกาะติดและนำเสนอข้อเท็จจริงปัญหาชาวบ้านท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ที่ถูกนายทุนออกโฉนดทับที่ดินทำกินมานานกว่า 30 ปี ซึ่งได้ร้องเรียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแล้วนับสิบครั้ง แต่ถูกปฏิเสธ อ้างว่านายทุนได้โฉนดมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และวันนี้นับเป็นข่าวดีที่การต่อสู้ของพวกเขาเริ่มเห็นผล มีการรับเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว
ปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านท่าข้าม อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ ที่ถูกนายทุนออกโฉนดทับที่ดินทำกินมานานกว่า 30 ปี ชาวบ้านได้เรียกร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน แต่ทุกหน่วยงานปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ อ้างนายทุนได้โฉนดมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จนชาวบ้านบางส่วนถอดใจย้ายออกนอกพื้นที่ ส่วนที่เหลือยังคงเดินหน้าต่อสู้ เรียกร้องในสิทธิอันชอบธรรม แม้ว่าความหวังจะเลือนรางเต็มที
การเรียกร้องขอออกเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบ้านกว่า 200 ครัวเรือน ใน 5 หมู่บ้านของ ต.ท่าข้าม และบางส่วนของ ต.ตะกุดไร ต่อที่ดินสาขาชนแดนในครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก แต่นับเป็นครั้งที่ 10 แล้วในรอบ 30 ปี และจำนวนชาวบ้านที่มาเรียกร้องก็มากกว่าที่ผ่านมา หลังพบผู้เสียหายจากปัญหาดังกล่าวเพิ่มจำนวนขึ้นอีก 1 หมู่บ้าน จากเดิมมีชาวบ้านที่ถูกนายทุนออกโฉนดทับที่ทำกินเพียงหมู่ 3, 5, 8, 10 และ 11 เท่านั้น
จากการตรวจสอบของสำนักข่าวไทย พบว่า นอกจากโฉนดที่ดินเลขที่ 284 และ 285 เนื้อที่กว่า 1,500 ไร่แล้ว นายทุนรายนี้ยังมีโฉนดในครอบครองอีกไม่น้อยกว่า 3 ฉบับ รวมถึงถือครองเอกสารสิทธิ น.ส.3 อีกจำนวนมาก ทั้งหมดอยู่ในพื้นที่ ต.ท่าข้าม และ ต.ตะกุดไร รวมเนื้อที่ 5,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ถึง 2 ตำบล มีชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน จำนวน 6 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ 3, 5, 8, 10, 11 และหมู่ 7
การถือครองโฉนดที่ดินทั้ง 2 ฉบับ และ น.ส.3 จำนวนมากของนายทุน ตลอดระยะเวลาหลายสิบปี พบว่า นายทุนไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดิน ไม่เคยแสดงสิทธิความเป็นเจ้าของ ที่ดินที่มีโฉนดมา เป็นเวลานานกลับไม่มีหมุดเขตแดน ในตัวโฉนดระบุชัดมีถนนสาธารณะห้อมล้อมตลอดแปลง แต่พื้นที่จริงไม่มี ประกอบกับมีการนำระบบสาธารณูปโภคเข้าไปในพื้นที่ โดยไม่มีการคัดค้านจากกรมที่ดิน หรือนายทุนผู้เป็นเจ้าของ ที่สำคัญยังพบเอกสารเก่าของสำนักนายกรัฐมนตรีอย่างน้อย 1 ฉบับ ที่ส่อว่า การได้มาซึ่งโฉนดทั้ง 2 แปลง และ น.ส.3 อีกจำนวนมากของนายทุนนั้นไม่ถูกต้อง
ดีเอสไอภาค 6 ซึ่งได้ลงพื้นที่สืบสวนเรื่องนี้มาตลอด 4 เดือน พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐทั้งในอดีตและปัจจุบันมีส่วนพัวพันกับความไม่ชอบมาพากล จึงรวบรวมพยานหลักฐานนำสำนวนส่งให้คณะกรรมการคดีพิเศษ พิจารณาว่าจะรับปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านท่าข้ามเป็นคดีพิเศษหรือไม่ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ล่าสุดคณะกรรมการฯ มีมติเห็นชอบให้รับเรื่องนี้เป็นคดีพิเศษ และอยู่ระหว่างการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ดิน ระดับมือพระกาฬของประเทศมาทำคดีนี้. – สำนักข่าวไทย