อาบูจา 19 ก.ย.- เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย องค์กรนอกภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าชี้ว่า ไนจีเรียกลายเป็นศูนย์กลางของแก๊งลอบส่งออกตัวนิ่มแอฟริกันไปค้าในเอเชียไปแล้ว
ตัวนิ่มเป็นสัตว์ที่ถูกลอบค้ามากที่สุดในโลก ปัจจัยที่ทำให้ไนจีเรียกลายเป็นแหล่งลอบส่งออกประกอบด้วยพรมแดนที่เต็มไปด้วยช่องโหว่ การบังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน การทุจริต และการมีท่าเรือขนาดใหญ่ ปีนี้ทางการฮ่องกงและสิงคโปร์ยึดได้คอนเทนเนอร์บรรจุเกล็ดตัวนิ่มน้ำหนักรวมกัน 33.9 ตัน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่ต่ำกว่า 3,052 ล้านบาท) ทั้งหมดลอบส่งมาจากไนจีเรีย แทรฟฟิก (TRAFFIC) เครือข่ายการสำรวจตรวจสอบการลอบค้าสัตว์ป่าเผยว่า ตัวนิ่มแอฟริกาที่ยึดได้ในปี 2559 มาจากไนจีเรียไม่ถึง 1 ใน 4 แต่เมื่อถึงปีที่แล้วกลับเพิ่มเป็นเกือบ 2 ใน 3
รอยเตอร์ระบุว่า ประเทศในแอฟริกาที่เคยมีการลอบค้าตัวนิ่ม เช่น เคนยา แอฟริกาใต้ แทนซาเนีย และยูกันดา ล้วนอ้างว่าได้ปราบปรามอย่างเข้มงวด ส่งผลให้แก๊งลอบค้าหนีมาที่ไนจีเรียแทน เจ้าหน้าที่ศุลกากรไนจีเรียแย้งว่า ทางการได้เข้มงวดการตรวจสอบบริเวณพรมแดน ส่งผลให้การลอบค้าตัวนิ่มลดลง แต่ก็ยังไม่มีประเทศใดสามารถกวาดล้างการทำผิดกฎหมายนี้ได้อย่างสิ้นซาก ทางการยึดเกล็ดตัวนิ่มได้ 927 กิโลกรัมในปี 2559 ก่อนลดลงเหลือ 402 กิโลกรัมในปี 2560 และเพิ่มเป็น 12.3 ตันเมื่อปีก่อน
องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งหนึ่งเผยว่า กว่าจะได้เกล็ดหนึ่งตันต้องฆ่าตัวนิ่มขนาดเล็ก 1,666 ตัว หรือตัวนิ่มขนาดใหญ่ 277 ตัว หากคำนวณตามที่แทรฟฟิกระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงขณะนี้มีเกล็ดตัวนิ่มจากแอฟริกาถูกยึดได้ 67.6 ตัน เท่ากับมีตัวนิ่มขนาดเล็กถูกฆ่า 112,620 ตัว หรือตัวนิ่มขนาดใหญ่ถูกฆ่า 18,725 ตัว ตัวนิ่มในไนจีเรียซื้อขายที่ตัวละ 7 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 213 บาท) แต่เมื่อไปถึงจีนหรือเวียดนามเกล็ดของตัวนิ่มตัวเดียวกันอาจมีราคาสูงถึง 250 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,629 บาท) ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไปตัวนิ่มอาจสูญพันธุ์ภายใน 20 ปี.-สำนักข่าวไทย