กรุงเทพฯ 17 ก.ย. – ชวพม.สรุปข้อเสนอเอกชน-รัฐ เสนอ รมว.พลังงาน พบการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน ทุกโมเดลประชาชนต้องร่วมอุดหนุนค่าไฟฟ้ากระทบจ่ายเพิ่ม 7-20 สตางค์ต่อหน่วย
ในงานเสวนาชมรมวิทยาการพลังงานรุ่นใหม่ (ชวพม.) ชวนคุยโรงไฟฟ้าชุมชนประชาชนได้อะไร มีข้อเสนอทั้งจากหน่วยงานรัฐ เอกชน และวิสาหกิจชุมชน โดยเห็นด้วยกับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนของกระทรวงพลังงาน มีข้อเสนอทั้งรูปแบบเอกชน-ชุมชน และหน่วยงานรัฐ ร่วมทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1-3 เมกะวัตต์ โดยเอกชนร่วมทุนในสัดส่วนร้อยละ 0-70 ทุกโมเดลต้องมีเงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าในรูปแบบ FIT อัตรา 4.24-5.34 บาท/หน่วย ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าประชาชนแพงขึ้น 7-20 สตางค์ต่อหน่วย ทั้งนี้ ภาคเอกชนจะต้องให้ผลตอบแทนแก่ชุมชนที่ดี โดยรูปแบบเช่นนี้จะทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่ม และเป็นการกระจายการผลิตไฟฟ้า โดยเชื้อเพลิงขึ้นกับวัตถุดิบแต่ละพื้นที่ มีเงินลงทุน 100-300 ล้านบาทต่อโรง กำลังผลิตรวม 500-1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งทาง ชวพม.ได้รวบรวมความคิดเห็นเสนอต่อนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซึ่งนายสนธิรัตน์ จะสรุปโมเดลภายใน 2-3 เดือนนี้
นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เสนอโมเดล คือ จัดตั้งเป็นบริษัทไฟฟ้าประชารัฐฯ ที่จะร่วมทุนกันระหว่างหน่วยงานรัฐร้อยละ 40 และบริษัทชุมชนประชารัฐร้อยละ60 ที่เป็นการร่วมทุนระหว่างเอกชนและชุมชน โดยในส่วนของ กฟภ. พร้อมให้บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัดบริษัทลูกเข้าร่วมทุน ซึ่งจากการประเมินศักยภาพสายส่งของ กฟภ.เบื้องต้นจะสามารถรองรับทั่วประเทศ 4,000 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนได้ประมาณ 1,563 แห่ง แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพขนาด 1-3 เมกะวัตต์ 564 แห่ง โรงไฟฟ้าชีวมวลขนาด 3 เมกะวัตต์ 999 แห่ง แต่ระยะแรกคาดว่าจะเกิดได้ประมาณ 700 -800 เมกะวัตต์ คาดกระทบค่าไฟฟ้า 7-8 สตางค์ต่อหน่วย
นายสมพงษ์ กล่าวว่า หากปลูกข้าวและปลูกพืชพลังงานเสริมรายได้ เช่น หญ้าเนเปียร์ ซึ่งกรณีโรงไฟฟ้าชุมชน 1 เมกะวัตต์ หากใช้พื้นที่ปลูก 10 ไร่ ก็จะทำให้เกิดรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนหลังหักค่าใช้จ่ายประมาณ 159,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ จะต้องมีการจัดโซนนิ่งรับซื้อเชื้อเพลิงเฉพาะในชุมชนก่อน และประกันราคารับซื้อเชื้อเพลิง
นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างการศึกษาโมเดลการพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชน ทั้งรูปแบบ ร่วมทุนและเป็นที่ปรึกษา ซึ่งการดำเนินการต้องเน้นให้เกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาปลูกพืชผสมผสาน เพื่อสร้างรายได้ลดหนี้ครัวเรือนที่มีอยู่ และที่สำคัญ คือ ประชาชนทั่วไปต้องยอมรับว่าการสนับสนุนจะมีผลให้ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นบ้าง เช่น หากโรงไฟฟ้าชุมชนเข้าระบบ 500- 1,000 เมกะวัตต์ที่เป็นแบบ Firm (จ่ายไฟ 24 ชม.) หรือ NON-FIRM จะกระทบค่าไฟฟ้าเพิ่มประมาณ 20 สตางค์ต่อหน่วย.-สำนักข่าวไทย