กรุงเทพฯ 23 ก.ย.- ส.อ.ท.ชี้แข่งขันประมูลโรงไฟฟ้าชุมชน นำร่อง 150 เมกะวัตต์ ราคาลดรุนแรง 30-80% ชุมชนจะได้ประโยชน์น้อย หวัง ประมูล รอบใหม่ไม่แข่งขันด้านราคา ด้าน SCI คุยได้ 4 โครงการ 11 เมกะวัตต์
นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ผลการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน นำร่อง150 เมกะวัตต์แรก ที่มีผู้ชนะ 43 โครงการว่า พบว่า การเสนอราคาประมูลได้ราคาที่ต่ำกว่าคาด มีส่วนลดราคาค่าไฟ(discount) ประมาณ 30-80% ที่ไม่ควรต่ำกว่าระดับ 3 บาทต่อหน่วย แม้เป็นเรื่องที่แต่ละโครงการที่ชนะการประมูลจะบริหารจัดการต้นทุนดำเนินการกันเอง แต่ก็ยังเป็นห่วงว่าชุมชนจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่หรือไม่
ทั้งนี้ คาดหวังว่า การขับเคลื่อนโรงไฟฟ้าชุมชนในระยะต่อไป หรือ โครงการในเฟสที่ 2 ตามที่กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณานั้น ภาครัฐจะปรับเงื่อนไขโครงการใหม่ โดยหันกลับไปพิจารณาเงื่อนไขเดิม ที่ไม่ใช่รูปแบบการเปิดประมูลแข่งขันด้านราคา และเป็นการแข่งขันเสนอผลประโยชน์ให้กับชุมชนสูงสุด เพราะวิธีการนี้ จะทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากโครงการอย่างเต็มที่ เช่น การกำหนดผลตอบแทน 25 สตางค์ต่อหน่วย เป็นต้น และยังช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้เม็ดเงินลงไปสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างเต็มที่
การประมูลโรงไฟฟ้า ชุมชนนำร่อง พบว่า เชื้อเพลิงชีวมวล ขนาดเล็ก ไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ มีส่วนลดราคาค่าไฟ(discount) สูงสุด ได้ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2.31 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 82.5% และรวมค่าพรีเมียมในพื้นที่ภาคใต้อีก 50 สตางค์ รวมอยู่ที่ 2.81 ส่วนลดราคาค่าไฟ(discount) ต่ำสุด ได้ราคาอยู่ที่ 3.52 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 36.11% หรือมีค่าเฉลี่ยส่วนลดราคาค่าไฟ อยู่ที่ 2.81-3.52 บาทต่อหน่วย
- เชื้อเพลิงชีวมวล กำลังการผลิตมากกว่า 3 เมกะวัตต์ แต่ไม่เกิน 6 เมกะวัตต์ มีส่วนลดราคาค่าไฟ (discount) สูงสุด ได้ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2.23 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 84% และรวมค่าพรีเมียมในพื้นที่ภาคใต้อีก 50 สตางค์ รวมอยู่ที่ 2.73 ส่วนลดราคาค่าไฟ(discount) ต่ำสุด ได้ราคาอยู่ที่ 2.80 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 60.35% หรือมีค่าเฉลี่ยส่วนลดราคาค่าไฟ อยู่ที่ 2.73-2.80 บาทต่อหน่วย
- เชื้อเพลิงชีวภาพ ขนาดเล็ก กำลังการผลิตไม่เกิน 3 เมกะวัตต์ มีส่วนลดราคาค่าไฟ(discount) สูงสุด ได้ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 2.62 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 72.5% และส่วนลดราคาค่าไฟ(discount) ต่ำสุด ได้อยู่ที่ 3.57 บาทต่อหน่วย คิดเป็น 38.38 % หรือมีค่าเฉลี่ยส่วนลดราคาค่าไฟ อยู่ที่ 2.62-3.57 บาทต่อหน่วย
ดังนั้น ในส่วนของโครงการประเภทเชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพ ขนาดเล็ก จะมีอัตราค่าไฟฟ้าใกล้เคียงกันอยู่ที่ 2.6-3.5 บาทต่อหน่วย ขณะที่โครงการเชื้อเพลิงชีวมวล ขนาดใหญ่กว่า จะมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย อยู่ที่ 2.73-2.8 บาทต่อหน่วย ซึ่งมีต้นทุนค่าไฟฟ้าต่ำกว่าโครงการขนาดเล็ก
นายเกรียงไกร เพียรวิทยาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีไอ อีเลคตริค จำกัด (มหาชน) (SCI) เปิดเผยว่า บริษัทร่วมทุนของ SCI ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 11 เมกะวัตต์ และมั่นใจว่าจะสามารถเดินหน้าโครงการร่วมกับเครือข่ายเกษตรกร และจัดหาวัตถุดิบที่นำมาใช้สำหรับโรงไฟฟ้าชุมชนในแต่ละพื้นที่ ตามแผนงานที่วางไว้
ทั้งนี้ กำหนดลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 120 วัน นับจากวันประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก หรือภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 และกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567. –สำนักข่าวไทย