ตลท. 10 ก.ย. – อดีตรองนายกฯ แนะรัฐอัดฉีดเงินเกษตรกรโดยตรง กู้เงินเพิ่มกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี
นายวีรพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังได้รับผลกระทบจากปัจจัยต่างประเทศ แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลดำเนินการ คือ ประคับประคองเศรษฐกิจ ด้วยการดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศให้มีประสิทธิภาพ
สำหรับแนวทางกระตุ้นการบริโภคในประเทศ รัฐบาลควรให้ความสำคัญเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร แม้จะยอมรับว่าที่ผ่านมาราคาสินค้าเกษตรผันผวน ทำให้นโยบายพยุงราคา จำนำพืชผล ประกันราคา จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ดังนั้น แนวทางที่จะช่วยเหลือเกษตรได้ คือ ต้องอัดฉีดเงินช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง เพื่อนำไปใช้จ่ายให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทันที ซึ่งต้องโอนเงินให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกันมองว่ารัฐบาลควรหันมากู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะถ้าวิเคราะห์ศักยภาพเศรษฐกิจไทยที่ยังเกินดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัด สามารถขยับเพดานหนี้สาธารณะขึ้นมาได้ถึง 70% ต่อจีดีพี ปัจจุบันอยู่ระดับกว่า 40% ต่อจีดีพี และไม่ควรใช้นโยบายปรับขึ้นภาษีเพียงอย่างเดียว ขณะที่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดปัจจุบันค่อนข้างล่าช้าและมีข้อจำกัดเรื่องการใช้จ่าย ส่วนนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มองว่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยมาก ดังนั้น ต้องหาทางสร้างความเชื่อมั่นให้เอกชนมาลงทุนมากขึ้นและเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าถ้ารัฐบาลขยันทำงาน เชื่อว่าสิ้นปีนี้จีดีพีของไทยมีโอกาสโตได้มากกว่า 3%
ทั้งนี้ มั่นใจว่าโอกาสเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยนั้นมีน้อย เนื่องจากค่าเงินบาทลอยตัว และฐานะการเงินการคลังยังเกินดุลมาก สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทย มองว่าแม้จะอยู่ระดับต่ำ แต่ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีส่วนต่างไม่มากหากเทียบกับอัตราดอกเบี้ยโลก โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะยังมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยอีกระยะถัดไป ซึ่งดอกเบี้ยไทยต้องปรับเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาเฟดปรับลดดอกเบี้ย ทำให้กระแสเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้าในไทย ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ เนื่องจากส่งออกของไทยที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เพราะมีสัดส่วนถึง 70% ของจีดีพีประเทศ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกถูกกดดันจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน มองว่าการหันมาสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจภายในประเทศน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่า โดยมองว่าการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลยังทำได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะเรื่องของราคาสินค้าเกษตร พร้อมเห็นด้วยกับนโยบายช่วยเหลือชาวนาด้วยการโอนเงินใหชาวนาโดยตรง เพราะสิ่งสำคัญที่ชาวไร่ชาวนาต้องการ คือ การมีรายได้มากขึ้น เพื่อที่จะได้นำเงินไปใช้จ่ายในชนบท ขณะเดียวกันมองว่าเรื่องของราคาสินค้าเกษตร ทั้งข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ก็มีโอกาสที่จะทำราคาเพิ่มขึ้นได้ จึงอยากฝากรัฐบาลเข้ามาดูแลในเรื่องดังกล่าวให้มากขึ้น
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยกำลังมีสัญญาณชะลอตัว ซึ่งได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก เพราะสัดส่วนส่งออกของไทยต่อจีดีพีค่อนข้างสูง ดังนั้น ควรดูแลผู้ส่งออกและค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าเกินไป ขณะเดียวกันนโยบายด้านการเงินและการคลังก็ต้องทำงานสอดประสานกันเพื่อดูแลการเข้า-ออกเงินทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลมีนโยบายเรื่องการลงทุนระยะยาวที่ชัดเจน ทำให้เอกชนสามารถจับจังหวะลงทุนด้านต่าง ๆ ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับระบบเศรษฐกิจในอนาคต และควรมีนโยบายกระตุ้นท่องเที่ยว เช่น ยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และนำเงินมาช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อเพิ่มกำลังซื้อในพื้นที่ชนบท และลดอุปสรรคผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อให้เอกชนลงทุนได้สะดวกขึ้น . – สำนักข่าวไทย