กรุงเทพฯ 2 ก.ย. – รมว.เกษตรฯ สั่งการด่วนให้กรมชลประทานตัดยอดน้ำยมที่หลากมาจากจังหวัดแพร่ ผันสู่ทุ่งบางระกำ ป้องกันน้ำท่วมตัวเมืองสุโขทัย ด้านกรมชลฯ เตรียมพร้อมทั้งแผนบริหารจัดการน้ำและเครื่องจักร-เครื่องมือ หากน้ำท่วมขังในเขตชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่การเกษตรสามารถแก้ไขได้ทันที
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการด่วนที่สุดไปยังนายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ให้ป้องกันอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในอำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย จากภาวะน้ำลุ่มน้ำยมที่หลากมาจากจังหวัดแพร่ หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของพายุโพดุล โดยกำชับให้ป้องกันตัวเมืองสุโขทัยให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและความเสียหายทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมชลประทานว่าระดับน้ำแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กำลังไหลมาอำเภอศรีสัชนาลัย คาดว่าระดับที่ประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์นั้น น้ำจะสูงสุดคืนนี้ (3 ก.ย.) เวลา 02.00 – 03.00 น. ซึ่งจำเป็นต้องผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าไปทุ่งรับน้ำบางระกำ เพื่อให้น้ำที่ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัยไม่เกิน 550 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะนี้สำนักชลประทานที่ 4 ได้ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัยและสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับสถานการณ์ต่อไป
อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ปริมาตรน้ำสูงสุดของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ Y.37 อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ เมื่อเวลา 11.00 – 12.00 น. อยู่ที่ไม่เกิน 1,100 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที จากนั้นจะไหลมายังสถานี Y.14 อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยมีปริมาตรน้ำสูงสุดไม่เกิน 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาทีเวลาประมาณ 02.00 – 03.00 น. คืนนี้ กรมชลประทานวางแผนมาตรการต่าง ๆ เตรียมรับสถานการณ์น้ำแม่น้ำยมไหลหลากมาจากแพร่ลงสู่สุโขทัย ด้วยการลดระดับน้ำบริเวณหน้าประตูระบายน้ำหาดสะพานจันทร์ เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำมากขึ้น พร้อมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการไหลของน้ำในคลองยม-น่านและแม่น้ำยมสายเก่า พร่องน้ำในแก้มลิงทุ่งทะเลหลวงเพื่อรองรับการตัดยอดน้ำในแม่น้ำยม
ทั้งนี้ จะผันน้ำเข้าไปเก็บกักที่พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ซึ่งมีพื้นที่กว่า 382,000 ไร่ รับน้ำได้ประมาณ 550 ล้าน ลบ.ม. การตัดยอดน้ำดังกล่าวจะทำให้น้ำไหลผ่านเมืองสุโขทัยในอัตราไม่เกิน 550 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งเป็นปริมาตรสูงสุดที่ลำน้ำบริเวณนั้นรับได้ นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมเครื่องจักรกลหนัก เครื่องสูบน้ำให้พร้อมปฏิบัติงานได้ตลอดเวลา หากเกิดน้ำท่วมขังในเขตชุมชน พื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่การเกษตร อีกทั้งได้แจ้งข้อมูลแก่ทางจังหวัดสุโขทัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบและเตรียมรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
สำหรับการบริหารจัดการน้ำ เพื่อลดผลกระทบต่อตัวเมืองสุโขทัย นั้น กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำยม เมื่อน้ำจากตอนบนไหลลงมาถึงบริเวณหน้าประตูระบายน้ำ (ปตร.) หาดสะพานจันทร์หน่วงน้ำไว้บริเวณหน้า ปตร.และผันน้ำส่วนหนึ่งเข้าคลองยม-น่านผ่านทางประตูระบายน้ำหกบาทในอัตรา 250 – 350 ลบ.ม.ต่อวินาที ก่อนจะผันน้ำไปลงแม่น่านผ่าน ปตร.ยม-น่าน ในอัตรา 100 ลบ.ม. ต่อวินาที รวมทั้งผันลงแม่น้ำยมสายเก่าผ่าน ปตร. ยมเก่าอีกประมาณ 150-250 ลบ.ม. ต่อวินาที พร้อมกันนี้จะควบคุมปริมาตรน้ำให้ไหลผ่าน ปตร.หาดสะพานจันทร์ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 650 – 710 ลบ.ม. ต่อวินาที จากนั้นจะผันน้ำเข้าคลองเล็กทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำยมในอัตราสูงสุดรวมไม่เกิน 160 ลบ.ม. ต่อวินาที น้ำส่วนหนึ่งจะตัดเข้าคลองตาดินและคลองบางคลองไปเก็บกักไว้ในทุ่งทะเลหลวง รวมไปถึงแก้มลิงต่าง ๆ ที่ยังสามารถรับน้ำได้ ทั้งนี้ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านตัวเมืองสุโขทัย (สถานี Y.4) ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 550 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนในเขตเทศบาลเมืองสุโขทัย.-สำนักข่าวไทย