กรุงเทพ ฯ 19 ก.ค. – ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประเทศไทยทบทวนเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวเป็นเชิงบวก พร้อมคงอันดับความน่าเชื่อถือที่ BBB+
กระทรวงการคลังรายงานผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Ratings (Fitch) ว่า Fitch ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาวจากระดับ “มีเสถียรภาพ” (Stable outlook) เป็น “เชิงบวก” (Positive outlook) และคงอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลในการออกตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะยาวที่ระดับ BBB+ ตราสารหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศและสกุลเงินบาทระยะสั้นที่ระดับ F1 และเพดานอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ (Country Ceiling) ที่ระดับ A-
โดยเป็นผลมาจาก Fitch มีความเชื่อมั่นเพิ่มมากขึ้นว่าความเสี่ยงทางการเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารเศรษฐกิจมหภาค โดยสะท้อนจากความเข้มแข็งทางการเงินภาคต่างประเทศ (External Finance) และภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ประเทศไม่อ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเงิน ขณะที่ปัญหาทางการเมืองที่สำคัญได้รับการแก้ไขภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ระดับความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงมีอยู่ โดยขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาลผสม
ความเข้มแข็งทางการเงินภาคต่างประเทศของไทยเป็นจุดแข็งหลักต่อความน่าเชื่อถือของประเทศสะท้อนได้จากการที่สกุลเงินบาทไทยแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาคเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยปี 2562 ค่าเงินบาทแข็งค่ามากกว่าร้อยละ 4.5 เนื่องจากการไหลเข้าของเงินทุนและการลงทุนในตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะเดือนมิถุนายน 2562
Fitch คาดการณ์ว่าภาคการเงินต่างประเทศของไทยจะยังคงเข้มแข็ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน (กลุ่ม BBB) ที่ร้อยละ 5.6 ในปี 2562 และร้อยละ 4.9 ในปี 2563 ซึ่งได้แรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยวและการเกินดุลการค้า แม้ว่าการส่งออกจะชะลอตัวลงก็ตาม อย่างไรก็ตาม Fitch คาดการณ์ว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดประกอบกับเงินทุนที่ไหลเข้ามานั้นส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจาก 205,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2561 เป็นประมาณ 216,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 นอกจากนี้ สัดส่วนการเป็นเจ้าหนี้สุทธิกับต่างประเทศต่อ GDP ที่ร้อยละ 43 ในปี 2562 สูงกว่าค่ากลางสัดส่วนการเป็นลูกหนี้สุทธิต่อ GDP ของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกัน (กลุ่ม BBB) ที่ร้อยละ 7 ตามประมาณการของ Fitch รวมถึงสูงกว่าค่ากลางสัดส่วนการเป็นเจ้าหนี้สุทธิของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ A ที่ร้อยละ 9.7
นอกจากนี้ รัฐบาลบริหารทางการคลังได้อย่างเข้มแข็งภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 Fitch คาดการณ์ว่าสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP (General Government Debt to GDP) จะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 36.3 ในปีงบประมาณ 2561 เป็นร้อยละ 40.7 ในปีงบประมาณ 2566 เนื่องจากรัฐบาลเร่งการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ส่วนการขาดดุลงบประมาณของไทยเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือเดียวกันแล้วถือว่าอยู่ในระดับต่ำ โดย Fitch คาดการณ์ว่าการขาดดุลภาครัฐบาล (General government deficit) ตามมาตรฐาน Government Finance Statistics (GFS) จากที่เกินดุลที่ร้อยละ 0.1 ของ GDP ในปลายปีงบประมาณ 2561 เป็นขาดดุลที่ร้อยละ 0.2 ของ GDP ในปี 2562 ขณะที่การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จะล่าช้าไป 3 เดือน อย่างไรก็ตาม Fitch คาดการณ์ว่าการขาดดุลงบประมาณจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP เนื่องจากรัฐบาลจะจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการเพื่อผู้มีรายได้น้อยและโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นช่วยคลี่คลายความไม่แน่นอนทางการเมืองและมีส่วนช่วยสนับสนุนความต่อเนื่องของนโยบายที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบัน Fitchคาดการณ์ว่าการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตามแผนงานยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนการลงทุนในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะปานกลาง
อย่างไรก็ตาม Fitch จะติดตามสถานการณ์สำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออันดับความน่าเชื่อถือของไทย ได้แก่ ระดับหนี้ครัวเรือนของไทย การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย และการพัฒนาทุนมนุษย์.-สำนักข่าวไทย