กรุงเทพฯ 10 ก.ค.- ผู้เชี่ยวชาญด้านพยาธิโปรโตซัว ชี้แทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้ที่ชาวออสเตรเลียจะติดเชื้อปรสิตจากผัดไทย ระบุเชื้อนี้โดนความร้อน 60 องศาฯ ก็ตายหมดแล้ว ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ยืนยัน 2 ปีมานี้ ไม่เคยพบผู้ป่วยจากเชื้อ “Dientamoeba Fragilis”
หลังสามีภรรยาชาวออสเตรเลียอ้างว่าล้มป่วยนานร่วม 2 ปี จากการกินผัดไทยที่ศูนย์อาหารแห่งหนึ่งในภูเก็ต เมื่อปี 60 รู้สึกไม่สบาย อ่อนล้า มึนงง จนไม่สามารถทำงานได้ ซึ่งแพทย์ตรวจพบว่าพวกเขาได้รับเชื้อปรสิต “Dientamoeba Fragilis” ในลำไส้ จึงรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ 4 สัปดาห์ จนหายดี
กระทรวงสาธารณสุขส่งทีมสอบสวนโรคไปตรวจสอบร้านผัดไทยและโรงพยาบาลใน จ.ภูเก็ต พบว่า 3 ปีมานี้ ไม่เคยมีผู้ป่วยด้วยเชื้อ “Dientamoeba Fragilis” ซึ่งมักเป็นเชื้อที่พบในน้ำจืด ดินโคลน พืชและสัตว์ที่เน่าเปื่อย ไม่ก่อโรคในผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ทนต่อความร้อนและกรดในกระเพาะอาหาร โอกาสที่จะปนเปื้อนในผัดไทยจึงมีน้อยมาก เนื่องจากเป็นอาหารจานร้อน ส่วนข้อกังวลเรื่องการปนเปื้อนในส่วนผสมอื่น เช่น กุ้ง หรือผักสด เช่น ถั่วงอก ใบกุยช่าย และหัวปลีก ก็มีโอกาสน้อยมากเช่นกัน
ขณะที่ รศ.ดร.องอาจ มหิทธิกร หัวหน้าภาควิชาพยาธิโปรโตซัว คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ระบุเชื้อปรสิตดังกล่าวเจอความร้อนเพียง 60 องศาเซลเซียสก็ตายแล้ว การระบุว่าเจอเชื้อในผัดไทยแทบไม่มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะเส้น ไข่ เต้าหู้ ใบกุยช่าย ล้วนถูกผัดปรุงให้สุก หากมีจริงก็อาจอยู่ในเครื่องเคียง ผักแนมมากกว่า
เช่นเดียวกับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมีห้องปฏิบัติการและผู้เชี่ยวชาญในการตรวจวิเคราะห์เชื้อปนเปื้อนในอาหาร ยืนยันที่ผ่านมาไม่เคยตรวจพบเชื้อปรสิต “Dientamoeba Fragilis” ปนเปื้อนในอาหาร
การจะระบุว่า สามีภรรยาชาวออสเตรเลียติดเชื้อปรสิตมาจาการทานผัดไทยเมื่อปี 60 หรือไม่ จึงเป็นเรื่องที่พิสูจน์ยาก เพราะผ่านมาแล้ว 2 ปี อีกทั้งเชื้อนี้ยังติดต่อได้จากการสัมผัสสัตว์ เช่น หนู และหมู และหากเชื้อนี้อยู่ในร่างกาย แค่เพียง 1 สัปดาห์ก็ขับถ่ายออกมาหมดแล้ว.-สำนักข่าวไทย