กรุงเทพฯ 9 ก.ค. – กรมรางมาแล้ว!!! กร้าวภายใน 3 เดือน เคาะเพดานค่าโดยสารสูงสุด โครงข่ายรถไฟฟ้า 11 สาย กว่า 500 กม.ให้จบ เพื่อสางปัญหาค่ารถไฟฟ้าแพง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากเมื่อวานนี้ (8 ก.ค.) มีการทดสอบการใช้งานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต จากสถานีหมอชิตถึงสถานีห้าแยกลาดพร้าว และมีการพูดถึงประเด็นค่าโดยสารของรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามการประกาศใช้ ม.44 ให้ กทม.เจรจากับบีทีเอส เพื่อสรุปเงื่อนไขการเดินรถต่าง ๆ รวมถึงประเด็นค่าโดยสาร ซึ่ง กทม.พยายามเจรจา ให้บีทีเอส เก็บค่าโดยสารสูงสุดจนถึงสถานีคูคตไม่เกิน 65 บาท แต่ล่าสุดผู้บริหารบีทีเอส ระบุว่าเป็นเงื่อนไขที่ทำได้ยาก และที่ผ่านมามีประเด็นปัญหาเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง ซึ่งผู้ใช้รถไฟฟ้าออกมาเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางรางที่จัดตั้งขึ้นใหม่เข้ามาสางปัญหา เนื่องจากในอนาคตจะมีโครงข่ายรถไฟฟ้าเปิดให้บริการต่อเนื่องทยอยตั้งแต่ปีนี้
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมากรมฯ เสนอความเห็นให้กระทรวงคมนาคมจัดตั้งคณะกรรมการกำกับค่าโดยสารระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าไปแล้ว เพื่อศึกษาและกำหนดรายละเอียดเพดานราคาสูงสุดของโครงข่ายรถไฟฟ้าที่จะจัดเก็บจากผู้โดยสาร สำหรับโครงข่ายรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลกำลังจะเกิดขึ้น 11 สาย มีระยะทางรวมกว่า 500 กม.
สำหรับคณะกรรมการดังกล่าว ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงคมนาคม กรมราง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ผู้แทนกระทรวงการคลัง ทั้งจากกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะต้องอยู่ในการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ เพื่อพิจารณารายละเอียดของโครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้ด้วย
“ยืนยันว่าการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้จะไม่ล่าช้า โดยในส่วนของกรมรางตั้งเป้าหมายเรื่องอัตราค่าโดยสารสูงสุดของโครงข่ายรถไฟฟ้ากว่า 500 กิโลเมตรนี้ ต้องมีความชัดเจนภายใน 3 เดือน ส่วนราคาเพดานสูงสุดจะเป็นเท่าไหร่นั้น ต้องรอให้คณะกรรมการชุดนี้เริ่มต้นทำงาน โดยยืนยันอีกครั้งว่าการทำงานจะต้องไม่ล่าช้า เพราะขณะนี้โครงข่ายรถไฟฟ้ากำลังทยอยเปิดแล้ว ควรมีความชัดเจนในประเด็นเหล่านี้โดยเร็ว” นายสราวุธ กล่าว
อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวด้วยว่า การทำงานของคณะกรรมการกำกับค่าโดยสารจะทำงานลงลึกรายละเอียด หากมีการกำกับราคาค่าโดยสารสูงสุดทั้งโครงข่าย และจำเป็นต้องให้ภาครัฐเข้ามาจัดสรรงบประมาณชดเชยให้ราคาไม่สูงเกินไป ประชาชนทุกกลุ่มสามารถใช้บริการได้นั้น ที่มาของงบประมาณจะมาจากไหน จากการจัดตั้งกองทุนฯ หรือภาษีท้องถิ่นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก็ต้องมีความชัดเจนด้วย .-สำนักข่าวไทย