กรุงเทพฯ 1 ก.ค. – ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย จับมือส่งเสริมใช้ไบโอดีเซลเป้าหมายร่วมดูดซับปาล์ม โดยปี 63 ทุกประเทศผลักดันการผสมใช้เพิ่มขึ้นเป็นบี 10-30
สมาคมผูัผลิตไบโอดีเซล 3 ประเทศผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย จัดประชุมร่วมกันเป็นครั้งที่2 (2nd Palm Biodiesel Conference – Keeping Momentum & Overcome the Challenges) เพื่อสร้างเครือข่ายสนับสนุนวัตกรรรมองค์ความรู้และร่วมส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นโดยมีภาครัฐ ค่ายน้ำมัน ผู้ผลิตรถยนต์ร่วมเสวนาด้วย ซึ่งในส่วนของไทยมีกำลังผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ประมาณ 3 ล้านตัน/ปี เตรียมพร้อมประกาศใช้บี 10 ทดแทนบี 7 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ส่วนปี2564 อินโดนีเซียผลิตซีพีโอกว่า 40 ล้านตัน/ปี จะประกาศใช้บี 30 ทดแทนบี 20 และมาเลเซียผู้ผลิตซีพีโอกว่า20 ล้านตัน/ปี จะประกาศใช้บี 20 ภาคขนส่งทดแทนบี 10 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเริ่มใช้บี 7 วันนี้
ทั้งนี้ เพื่อช่วยดูดซับปาล์มที่ราคาตกต่ำลง หลังรัฐสภายุโรปได้ออกมติครั้งใหม่ให้ยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuels) จากน้ำมันพืชที่ส่งผลให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า โดยล่าสุดราคาซีพีโออินโดนีเซีย มาเลเซียอยู่ที่ 15-16 บาท/กก. ขณะที่ราคาของไทยอยู่ที่ประมาณ 22 บาท/กก. หลังไทยดูดซับด้วยการนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าและส่งเสริมบี 10 บี 20
นายศาณินทร์ ตริยานนท์ นายกสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย กล่าวว่า ความร่วมมือของ 3 ประเทศจะเป็นความร่วมมือที่ส่งสัญญาณความร่วมมือระหว่างกันและจะเป็นส่วนทำให้ค่ายรถยนต์/ค่ายน้ำมันพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับ
นายศาณินทร์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ไทยต้องเฝ้าระวังการลักลอบการนำเข้าบริเวณชายแดน เพราะราคาไทยสูงกว่าเพื่อนบ้าน หากต้องการให้ช่วยยกระดับราคาปาล์มอย่างยั่งยืนรัฐบาลใหม่ควรสานต่อการร่างกฏหมายปาล์มน้ำมันมีการจัดต้ั้งกองทุนมาดูแลทั้งระบบเหมือนประเทศมาเลเซีย ซึ่งกรณีนี้จะช่วยดูแลน้ำมันไบโอดีเซลหลังกฎหมายกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงระบุจะไม่มีการเข้ามาสนับสนุนในอนาคต ซึ่งอีกแนวคิดหนึ่งหากไทยบังคับใช้บี 10 แล้วก็ควรปล่อยราคาให้ขึ้นลงตามต้นทุนไม่ต้องเข้าสนับสนุน เพราะอัตราผสมมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นถือว่าต่ำมาก
ขณะที่ส่วนต่างของบี 20 และบี 7 ที่ราคา 5 บาท/ลิตร จะมีการต่ออายุหลังครบกำหนด 31 กรกฎาคม 2562 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสตอกในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นอย่างไร หากต่ำมากก็ไม่ควรใช้ต่อ เพราะอาจกระทบต่อราคาได้ โดยล่าสุดสตอกซีพีโอลดลงเหลือประมาณ 250,000 ตัน
ล่าสุดประเทศไทยมีโรงงานผลิตไบโอดีเซล บี 100 จำนวน 13 โรงงานกำลังผลิตรวม 8 ล้านลิตรต่อวันอย่างไรผลิตจริงตามความต้องการใช้ประมาณร้อยละ60 หรือเกือบ 5 ล้านลิตร/วัน และขณะนี้มีผู้ผลิตร้อยละ 80 ปรับปรุงมาตรฐานการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานของสมาคมผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น (JAMA) เพื่อเตรียมพร้อมการประกาศมาตรฐานบี 10 ในปี 2563
นายสมบูรณ์ หน่อแก้ว รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี ซึ่งนอกจากมีปริมาณที่เพียงพอต่อการใช้เพื่อการบริโภคในประเทศแล้ว ยังสามารถนาไปใช้ผลิตไบโอดีเซล เพื่อเป็นพลังงานทดแทนการใช้น้ามันดีเซลได้อีกด้วย ทั้งนี้ การใช้ไบโอดีเซลนอกจากจะสามารถช่วยลดมลพิษอันเกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันดีเซลได้นั้น ยังสามารถสร้างประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศไทยและภูมิภาคโดยรวม และเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรได้อย่างยั่งยืน.-สำนักข่าวไทย