นนทบุรี 28 มิ.ย. – กรมการค้าต่างประเทศเผยการค้าชายแดน – ผ่านแดนเติบโตสวนทางส่งออกรวม ยอด 5 เดือน ทำได้มูลค่า 577,391.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.31 ทั้งปีได้แน่ 1.6 ล้านล้านบาท
นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า มูลค่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย ในช่วง 5 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-พ.ค.) ยังคงขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับการส่งออกรวมในช่วง 5 เดือนที่ขยายตัวติดลบ ร้อยละ 2.70 โดยทำได้มูลค่ารวม 577,391.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.31 แยกเป็นการส่งออก 321,338.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.31 และการนำเข้า 256,053.19 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.94 เกินดุลการค้า 65,285.18 ล้านบาท และหากแยกเป็นการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ มูลค่า 446,527.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.57 เป็นการส่งออก 262,969.34 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.15 นำเข้า 203,557.96 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.82 เกินดุลการค้า 59,411.38 ล้านบาท และการค้าผ่านแดนกับ 3 ประเทศ มูลค่า 110,864.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.35 เป็นการส่งออก 58,369.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.54 นำเข้า 52,495.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.66 เกินดุลการค้า 5,873.80 ล้านบาท
ทั้งนี้ การค้าชายแดนแยกเป็นรายประเทศ พบว่า มาเลเซียยังเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มูลค่า 232,127.80 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.60 เป็นการส่งออก 109,720.76 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 9.38 นำเข้า 122,407.03 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.85 รองลงมา คือ เมียนมา มูลค่า 84,324 ล้านบาท สปป.ลาว มูลค่า 82,687.27 ล้านบาท และกัมพูชา มูลค่า 67,388.24 ล้านบาท
ขณะที่การค้าผ่านแดน จีนตอนใต้เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง มูลค่า 49,107.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้นสูงถึง ร้อยละ 46.41 เป็นการส่งออก 20,262.81 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 58.78 นำเข้า 28,844.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.81 รองลงมาคือ เวียดนาม มูลค่า 33,093.67 ล้านบาท และสิงคโปร์ มูลค่า 28,663.39 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อภาพรวมของการค้าในช่วงเดือน พ.ค. – มิ.ย. ได้แก่ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก รวมทั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกระทบกำลังซื้อทั่วโลกส่งผลทำให้การค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีการเติบโตแบบชะลอตัว โดยมาเลเซีย การส่งออกหดตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ายางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งได้รับปัจจัยกดดันจากค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า กอปรกับความต้องการนำเข้ายางธรรมชาติจากต่างประเทศมีแนวโน้มชะลอตัวลง รวมถึงสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ทำให้มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังประเทศไทยและหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน ด้าน สปป.ลาว มูลค่าการค้าหดตัวลง เนื่องจากการที่จีนหันมาลงทุนใน สปป.ลาว มากขึ้น ทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มน้ำมันดีเซล รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า และสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตรอื่นๆ มีการชะลอตัวลง สำหรับเมียนมา การส่งออกมีการชะลอตัวเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าน้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขณะที่กัมพูชา สถานการณ์การค้ายังคงสดใส การส่งออกขยายตัวถึง ร้อยละ 21.56 โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์ อุปกรณ์ฯ ในขณะที่การค้าผ่านแดนของไทย มีการขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ไปยังจีนตอนใต้ มีการมูลค่าสูงขึ้นถึงร้อยละ 274.05
ทั้งนี้ กรมฯ คาดว่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนในช่วง 7 เดือนที่เหลือของปีนี้ (มิ.ย.-ธ.ค.) มูลค่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง และจะส่งผลให้ยอดการค้าทั้งค้าชายแดนและผ่านแดนปีนี้โตอยู่ที่ร้อยละ 15 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.6 ล้านล้านบาท จากการที่สินค้าไทยยังคงเป็นที่ต้องการในตลาดของประเทศเพื่อนบ้าน และอาเซียนได้เห็นชอบให้เร่งการอำนวยความสะดวกทางการค้าในอาเซียนในช่วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ทั้งการเชื่อมระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน การรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และยังได้มีมติให้ผลักดันการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการค้า และลดผลกระทบจากความตรึงเครียดทางการค้า รวมทั้งได้มีการผลักดันแผนงานพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย หรือ IMT-GT ที่เน้นย้ำการเร่งสร้างความเชื่อมโยงทุกด้านในอาเซียนให้เติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันการค้าและการลงทุนได้เพิ่มขึ้น . – สำนักข่าวไทย