กรุงเทพฯ 26 มิ.ย. – รมว.เกษตรฯ สั่งรับมือโรคระบาดในพืชและสัตว์ เร่งป้องกันแพร่กระจาย หวั่นสร้างความเสียหาย เกษตรกรเดือดร้อน กระทบเศรษฐกิจประเทศ
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้สั่งการด่วนที่สุดเรื่องการควบคุม กำจัด ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคระบาดในพืชและสัตว์ โดยให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ และอธิบดีทุกกรม รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทุกหน่วยในระดับจังหวัด และเขตทุกแห่งเตรียมมาตรการรับสถานการณ์โรคระบาดในพืชและสัตว์ เนื่องจากขณะนี้มีความเสี่ยงของการระบาดทั้งโรคพืชและโรคสัตว์ในหลายพื้นที่สร้างความเสียหายให้กับผลผลิตของเกษตรกร รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี พะเยา เชียงราย และจังหวัดตามแนวชายแดน เป็นต้น จึงให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เรียกประชุมผู้บริหารส่วนกลาง เพื่อกำหนดแนวทางและขั้นตอนการปฎิบัติงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพืชและสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยเร่งด่วน
ส่วนระดับพื้นที่ขอให้เกษตรและสหกรณ์จังหวัดประสานเกษตรจังหวัดและปศุสัตว์จังหวัด รวมทั้งสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต กรมวิชาการเกษตร เพื่อให้ทั้ง 3 หน่วยสรุปสถานการณ์ความเสียหายและประเมินแนวโน้มการแพร่ระบาดหรือขยายตัวของโรคพืชและสัตว์ในพื้นที่แล้วนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ (อ.พ.ก.) เพื่อเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาและระดมเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยเข้าปฏิบัติงานตามแผนของจังหวัดโดยเร็ว
นายกฤษฎา กล่าวว่า ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคพืชและสัตว์จะสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนให้แก่เกษตรกร รวมทั้งมีผลเสียหายต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงให้ปลัดกระทรวงฯ จัดทำแผนสำรองกำหนดชุดปฎิบัติงานประจำพื้นที่ โดยให้ระดมข้าราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ ทุกหน่วยที่อยู่ในจังหวัดหรือพื้นที่ต้องมาทำงานร่วมกันด้วยในรูปแบบชุดปฎิบัติการประจำพื้นที่โดยให้อยู่การอำนวยการของ อ.พ.ก. ทั้งนี้ ให้กำชับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทุกหน่วยในจังหวัดออกไปเยี่ยมเยียนและดูแลเกษตรกรในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เป็นประจำและต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเอาใจใส่ต่อเกษตรกรที่กำลังประสบปัญหาความเดือดร้อนด้วย พร้อมกันนี้มอบหมายกรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักปลัดกระทรวงฯ ต้องทำหน้าที่อำนวยการช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่อย่างเข้มแข็งและฉับไว ซึ่งต้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแก่เกษตรกร นอกจากนี้ ให้เกษตรจังหวัดประสานงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จังหวัด เพื่อดำเนินการตามระเบียบกฎหมายว่าด้วยการช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูแก่เกษตรกรผู้ประสบภัยต่อไป
สำหรับโรคระบาดสัตว์นั้น กรมปศุสัตว์รายงานว่าโรคที่เฝ้าระวังอยู่ในขณะนี้ คือ โรคอหิวาต์แอฟริการในสุกร (ASF) ซึ่งเป็นโรคติดต่อร้ายแรง หากเกิดโรคอัตราการตายของสุกรสูงถึง 80-100 % เชื้อไวรัสก่อโรคมีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมสูง แพร่ระบาดได้เร็ว หากพบสุกรในฟาร์มใดป่วยด้วยโรคนี้ต้องทำลายทิ้งทั้งฟาร์ม ขณะนี้เกิดการระบาดในกัมพูชา เวียดนาม และลาว กรมปศุสัตว์ได้ประกาศเขตเฝ้าระวังโรคระบาดใน 16 จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน หนองคาย น่าน บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร เลย อุตรดิตถ์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สระแก้ว จันทบุรี และตราด ซึ่ง ครม. อนุมัติงบประมาณ 148 ล้าน สำหรับการเฝ้าระวังและป้องกันโรคระยะเวลา 3 ปี นอกจากนี้ ได้เห็นชอบอนุมัติกรอบวงเงินสำหรับชดเชยกรณีต้องทำลายสุกร 1,600 ล้านบาท และ ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์จะชดเชยให้ฟาร์มที่โดนสั่งให้ทำลายสุกรในมูลค่า 75% ของราคาตลาด
ส่วนโรคระบาดพืชนั้น กรมวิชาการเกษตรรายงานว่าพบการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสเป็นโรคระบาดร้ายแรง หากต้นมันสำปะหลังติดเชื้อจะสร้างความเสียหายต่อผลผลิตมันสำปะหลังประมาณ 80 % เนื่องจากใบจะมีอาการด่างเหลือง สังเคราะห์แสงไม่ได้ ต้นจะแคระแกรน และหัวมันจะไม่เติบโต เมื่อพบต้องทำลายทิ้งทั้งแปลง ทั้งนี้ โรคระบาดใบด่างมันสำปะหลังพบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ระบาด 5 อำเภอในจังหวัดสระแก้ว ต่อมาเดือนมิถุนายนพบการระบาดเพิ่มเป็น 8 อำเภอ เบื้องต้นกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการควบคุมพื้นที่ที่พบการระบาด เช่น ตรวจยึด ควบคุม จำกัดบริเวณท่อนพันธุ์ พาหะโรค เพื่อรอการทำลายและควบคุมไม่ให้เคลื่อนย้ายพาหะไปยังพื้นที่อื่น ๆ ระดมวัสดุ/สารเคมีฆ่าเชื้อ และปฏิบัติการทำลายพาหะโรค บันทึก/พิสูจน์/ตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่การประกาศเขตระบาดโรค และให้การช่วยเหลือตามระเบียบ ตั้งด่านสกัดกั้น และหาข่าวการลักลอบเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์/พาหะโรค ตามแนวชายแดน และรอบพื้นที่รัศมีการระบาด ส่วนพื้นที่รอบรัศมีการระบาด/หรือมีความเสี่ยง ให้เจ้าหน้าที่เกษตรจังหวัด อำเภอ ตำบล อาสาสมัครเกษตร ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาด ตรวจเยี่ยม แนะนำ และกำกับ ให้เกษตรกรได้จัดการแปลงมันฯ ตามหลักวิชาการได้แก่ ค้นหาโรค พ่นสารเคมีเพื่อป้องกันและทำลาย และเตรียมห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือตรวจวิเคราะห์โรคเพื่อรองรับตัวอย่างที่ส่งตรวจ วินิจฉัย และรายงานโรคเพื่อป้องกันการเกิดโรคและลดความเสียหายในพื้นที่ที่เป็นแหล่งปลูกมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศ.-สำนักข่าวไทย