29 พ.ย. – “อ.ธรณ์” อธิบายน้ำท่วมใต้ เหตุฝนตกแบบ Extreme Weather จากโลกร้อนทำน้ำในทะเลระเหยมากขึ้น เมฆยุคโลกร้อนเต็มไปด้วยน้ำ ปริมาณฝนจึงมากผิดปกติ
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เฟซบุ๊ก อธิบายน้ำท่วมภาคใต้ที่เกิดขึ้นเวลานี้ โดยระบุว่า “โลกยิ่งร้อนเท่าไหร่ สภาพอากาศยิ่งแปรปรวน แม้ไม่มีพายุ แต่ฝนตกในภาคใต้เทียบเท่าปริมาณน้ำฝนจากไต้ฝุ่น “
กราฟระดับน้ำของแม่น้ำสายบุรี จ.ยะลา คงพออธิบายฝนตกแบบ extreme weather ให้เข้าใจได้ กราฟของ สสน. แสดงระดับน้ำตลอดเดือนพฤศจิกายน จนถึงวันนี้ จะเห็นว่าสถานการณ์ปกติมาตลอด จนถึง 09.00 น. วันอังคาร (26 พ.ย.) น้ำยังสูงแค่ 12 เมตรเศษ ต่ำกว่าตลิ่งอีกเยอะ แต่เมื่อฝนตกไม่ลืมหูลืมตา ปริมาณน้ำฝนสะสมหลายร้อยมิลลิเมตร ไหลจากทุกทิศมารวมกัน น้ำเพิ่มขึ้นฉับพลัน ใช้เวลาเพียง 17 ชั่วโมง น้ำล้นตลิ่ง (04.00 น. 27 พ.ย.)
จากนั้นน้ำยังสูงต่อเนื่อง จนถึง 08.00 น. เช้าวันพฤหัส (28 พ.ย.) น้ำล้นตลิ่ง 2.75 เมตร ที่น่าเป็นห่วงคือฝนยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุด อย่างน้อยอีก 3-4 วัน ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นได้อีก นั่นคือความน่ากลัวของสภาพภูมิอากาศสุดขั้ว Extreme Weather ที่ไทยกำลังเผชิญ ทั้งปีนี้เราโดนตั้งแต่เหนือสุด (แม่สาย) จนถึงใต้สุด (ยะลา) ฝนตกภาคใต้ในช่วงนี้เป็นประจำทุกปี แต่โลกร้อนทำให้น้ำในทะเลระเหยมากขึ้น อากาศยิ่งร้อนเพิ่มทุก 1 องศาฯ จุไอน้ำเพิ่ม 7% เมฆยุคโลกร้อนจึงเต็มไปด้วยน้ำ ฝนตกในช่วงเวลาเท่าๆ เดิม แต่ปริมาณน้ำจากฟ้ามากกว่าเดิม เราจะเห็นข่าวว่าปริมาณน้ำฝนสะสมหลายแห่งเกิน 300 มม. เยอะมากจนผิดปกติ
มองไปข้างหน้า มีหลายเรื่องน่าห่วงในยุคโลกร้อน เช่น ฝนในลักษณะนี้จะเกิดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ คำว่าฝนหนักในรอบ 30-50 ปี จะกลายเป็นฝนปกติเจอกันแทบทุกปี โดยเฉพาะเมืองไทยที่อยู่ในเขตเจอฝนโลกร้อนหนักขึ้น (IPCC) และ ไทยติด TOP10 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากโลกร้อนรุนแรงสุดในเรื่องฝน/น้ำท่วม ตั้งแต่แม่สายจนถึงยะลา คำว่า “ไม่เคยพบเคยเห็น” เป็นคำปกติไปแล้วในยุคโลกร้อน ยังมีอีกหลายอย่างที่เราคาดไม่ถึง.-สำนักข่าวไทย