รร.พลาซ่าฯ 18 ส.ค. – ในงานสัมนาวิชาการของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประจำปี 2559 นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวระหว่างการเปิดงาน ว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้กระทรวงการคลังจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ทั้งระบบ ขณะนี้จึงต้องเร่งเตรียมการกำกับดูแลสหกรณ์ทั้งระบบ โดยมีรูปแบบคล้ายกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งดูแลธุรกิจประกัน แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบยังไม่ได้ข้อสรุป เบื้องต้นสหกรณ์ ชุมนุมยังคงอยู่ต่อไป รวมทั้งกรมตรวจสอบบัญชี กรมส่งเสริมสหกรณ์ ในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ผ่านมาได้มีการส่งเสริมและกำกับตรวจสอบบัญชี แต่จะปรับระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วงที่ผ่านมาจึงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ คาดว่าจะเสร็จภายใน 3 เดือน
คณะผู้วิจัย นักเศรษฐศาสตร์ สศค. ได้เสนอผลงานวิจัยผ่านการพัฒนาการสร้างสินทรัพย์ เพื่อการออมสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ รัฐบาลควรทดลองใช้นโยบายการเงินอุดหนุนแก่ครัวเรือนที่มีการออมเพื่อการศึกษาและพัฒนาเด็กในเขตกรุงเทพฯ เป็นอันดับแรก เนื่องจากเห็นว่ารัฐบาลสามารถให้เงินอุดหนุนแก่ครัวเรือนที่มีการออมเพื่อการศึกษา โดยรัฐบาลสมทบสูงสุดไม่เกิน 400 ต่อเดือน ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 15 ปี นับว่าเป็นอัตราสมทบเท่ากับเด็กแรกเกิดในปัจจุบัน ขณะที่ภาคครัวเรือนต้องออมเงิน 400 บาทต่อเดือน ตลอดระยะเวลา 15 ปี ภายใต้กลไกนี้เมื่อสิ้นปีที่ 15 จะทำให้เด็กมีเงินออม 122,400 บาท เป็นเงินต้นจากภาคครัวเรือน 72,000 บาท เป็นเงินสมทบของรัฐบาล 50,400 บาท โดยกำหนดเงื่อนไขการจ่ายสมทบ สำหรับเด็กแรกเกิด 1-3 ปี รัฐบาลจ่ายสมทบร้อยละ 25 ของเงินออม เด็กอายุ 4-6 ปี รัฐบาลจ่ายสมทบร้อยละ 50 เด็กอายุ 7-9 รัฐบาลจ่ายสมทบร้อยละ 75 ของเงินออมครัวเรือน อายุ 10-15 จ่ายสมทบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเห็นว่าอัตราการเกิดในเขตกรุงเทพฯ ปี 2557 มีจำนวน 100,000 คน โดยรัฐบาลมีภาระงบประมาณจ่ายชดเชย 5,000 ล้านบาท คณะผู้วิจัยมองว่ามาตรการดังกล่าวช่วยลดภาระการจัดสรรงบประมาณสำหรับกู้เงินผ่านกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
คณะผู้วิจัย นักเศรษฐศาสตร์ สศค. ได้เสนอผลงานวิจัย “โลกเปลี่ยน คลังปรับ” เนื่องจากไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2549 และจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปสัดส่วนร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ ทำให้คนวัยทำงานลดลงต่อเนื่องและคาดว่าปี 2583 คนวัยทำงานจะเหลือเพียงร้อยละ 55.08 ของประชากรทั้งประเทศ จึงส่งผลต่อผลิตภาพการผลิตและศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยการเติบโตทางเศรษฐกิจปี 2557-2558 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2 ต่อปี ต่ำกว่าศักยภาพร้อยละ 3.6 สาเหตุจากการลงทุนลดลงมาต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงตกอยู่ภายใต้กับดักประเทศรายได้ปานกลางเป็นระยะเวลานานด้วยอัตราการขยายตัวของจีดีพีระดับต่ำ จึงไม่เเพียงพอในการยกระดับเศรษฐกิจไทย
ปัจจุบันไทยมีรายได้เฉลี่ย 5,300 ดอลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี หากต้องการเพิ่มรายได้สูง 10,735 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ดังนั้น หากจีดีพีไทยขยายตัวไม่เกินร้อยละ 3.5 ต่อปี ต้องใช้เวลา 15-20 ปี จึงจะขยับฐานะประเทศมีรายได้สูง จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า หากเศรษฐกิจไทยปรับเปลี่ยนจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมสมัยใหม่ตามแนวทางรัฐสนับสนุนในกลุ่มซุปเปอร์คลัสเตอร์ เพื่อผลักดันจีดีพีขยายตัวร้อยละ 4.5 และปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจเป็นเกษตรแนวใหม่ ผสมผสานกับบริการภาคท่องเที่ยวจะทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้เพิ่ม ทำให้ไทยก้าวพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางปี 2571 ซึ่งต้องใช้เวลา 12 ปี รัฐบาลจึงต้องหาแนวทางยกระดับการเติบโตเศรษฐกิจให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางเช้ามาดูแลเศรษฐกิจ
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สศค. เปิดเผยว่า ผลการศึกษาของนักเศรษฐศาสตร์ สศค.ในเรื่องการส่งเงินสมทบภาคครัวเรือน เพื่อช่วยลดภาระของรัฐบาลจัดสรรงบประมาณผ่าน กยศ.ในการกู้เงินกับนักเรียน นักศึกษา แต่ต้องนำไปสู่การศึกษาเพิ่มและเสนอระดับนโยบายให้ตัดสินใจนำไปสู่การปฏิบัติ ขณะที่กระทรวงการคลังเตรียมผลักดันร่าง พ.ร.บ.การเงินการคลัง เพื่อความยั่งยืนในอนาคต หลังจากร่าง รัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากการลงประชามติ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อต้องการปฏิรูปการเงินการคลังหลายด้าน ทั้งการกำหนดชดเชยเงิน อัตราดอกเบี้ยให้แบงก์รัฐหรือหน่วยงานต่าง ๆ อย่างชัดเจน หลังจากออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาล ข้อกำหนดในการรักษาวินัยทางการคลัง
สำหรับผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา เกินเป้าหมาย 91,000 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 4 จี และรายได้นำส่งของทีวีดิจิตอล รวมทั้งภาษีจากกรมจัดเก็บรายได้ ดังนั้น รายได้ภาษีของรัฐบาลในปีงบประมาณปี 2559 จึงไม่น่าเป็นห่วง และแม้จะมีเหตุการณ์ความไม่สงบ แต่เมื่อแนวโน้มเศรษฐกิจปีนี้ยังดีจะพิจารณาจีดีพีของประเทศอีกครั้งเดือนตุลาคมนี้ โดยประเมินจากปัจจัยหลายด้านที่ส่งผลกระทบ.-สำนักข่าวไทย