รัฐสภา 21 ก.ย.-วุฒิสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบ64 หลังสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบวาระ 3 แล้ว ขณะที่ รัฐบาล ยืนยันการจัดสรรงบประมาณยึดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการบูรณาการในทุกมิติลดความเหลื่อมล้ำ โปร่งใสและตรวจสอบได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมวุฒิสภา มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานุวฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 วงเงินงบประมาณ 3,285,000 ล้านบาท ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบ แล้ว และมีการปรับลดงบประมาณลงกว่า 31,000 ล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะผู้แทนรัฐบาล ชี้แจงถึงร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ ว่า การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลยึดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงแผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการบูรณาการในทุกมิติและเพื่อเป็นกรอบในการขับเคลื่อนแผนงานโครงการให้มีความเชื่อมโยงสอดคล้องเกิดความคุ้มค่าและไม่ซ้ำซ้อน รวมทั้งให้การขับเคลื่อนด้านการดำเนินการของรัฐบาลเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศให้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน วางรากฐานของประเทศสู่อนาคต พร้อมส่งเสริมกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้วยการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างเป็นธรรม โปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพด้านการคลัง โดยการจัดสรรงบประมาณไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้การถ่ายโอนภารกิจด้านบริการสาธารณะระดับท้องถิ่นให้บริการประชาชนได้ดียิ่งขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสอดคล้องกับแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจ
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วุฒิสภา ได้ชี้แจงว่า จากสถานการณ์โรคโควิด -19 เป็นภัยพิบัติเกิดขึ้นทั่วโลก ดังนั้นการจัดสรรงบประมาณจึงคำนึงถึงการฟื้นฟูภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่จะต้องปรับตัวบนพื้นฐานการดำรงชีวิตใหม่ ภายใต้หลักปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นสำคัญ
สำหรับการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินี้ เป็นการพิจารณาตามมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้วุฒิสภาจะต้องให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้มาถึงวุฒิสภาและจะแก้ไขเพิ่มเติมไม่ได้ .-สำนักข่าวไทย