ลอนดอน 21 มิ.ย.- ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สกุลเงินดิจิทัลเข้ารหัสหรือคริปโตเคอเรนซีชื่อ ลิบรา (Libra) ที่เฟซบุ๊กประกาศจะเปิดตัวในครึ่งแรกของปีหน้าจะเผชิญอุปสรรคหลายอย่างแม้ได้รับเสียงตอบรับจากหลายฝ่ายก็ตาม
ผู้ก่อตั้งบริษัทกฎหมายเน้นเทคโนโลยีในอินเดียมองว่า หากลิบราไม่ติดขัดเรื่องระเบียบกฎหมายในอินเดีย ก็จะเข้าถึงชาวอินเดียจำนวนมหาศาลเพราะมีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากกว่า 300 ล้านคน ปัจจุบันชาวอินเดียจำนวนมากเข้าไม่ถึงบริการธนาคารและต้องเสียค่าธรรมเนียมสูงในการทำธุรกรรมเล็กน้อย เช่น โอนเงินให้ครอบครัว ชาวอินเดียวัย 23 ปีคนหนึ่งเผยว่า จะใช้ลิบราแน่นอนเพราะแนวคิดฟังดูดี อีกทั้งยังมีหุ้นส่วนเป็นบริษัทใหญ่ ๆ ระดับโลกจึงมีความน่าเชื่อถือ ลิบราจะไปรอดในตลาดอินเดียหรือไม่ขึ้นกับการให้ชาวอินเดียหลายพันล้านคนเข้าถึงได้ง่าย ขณะนี้อินเดียยังคงห้ามใช้คริปโตเคอเรนซี และธนาคารกลางกำลังร่างระเบียบควบคุมซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกนาน
นอกจากนี้ลิบรายังหมดโอกาสในประเทศที่ห้ามใช้เฟซบุ๊กอย่างจีน และประเทศที่ถูกสหรัฐคว่ำบาตร เช่น อิหร่าน ขณะที่ฝรั่งเศสยืนยันว่า เงินดิจิทัลไม่สามารถแทนที่เงินจริงได้ ส่วนอังกฤษชี้ว่า ลิบราจะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดว่าจะไม่ตกเป็นเครื่องมือฟอกเงินหรือสนับสนุนก่อการร้าย แม้แต่ในสหรัฐเองยังมีความไม่เชื่อใจ คณะกรรมการการธนาคารในวุฒิสภาสหรัฐกำหนดไต่สวนเรื่องนี้ในวันที่ 16 กรกฎาคม
ด้านธุรกิจการโอนเงินเผยว่า จะสนับสนุนการใช้ลิบราหากเฟซบุ๊กรับปากว่าจะลดหรือไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอนเงินไปยังผู้ที่ไม่มีบัญชีเงินฝากและทำให้การโอนเงินเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น เฟซบุ๊กอ้างข้อมูลของสหประชาชาติว่า แต่ละปีคนต่างถิ่นทั่วโลกต้องเสียค่าธรรมเนียมส่งเงินกลับบ้านรวมกันมากถึง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 770,675 ล้านบาท) อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็นจีติงว่า ต่อให้ทางการประเทศต่าง ๆ หันมายอมรับ คริปโตเคอเรนซีก็ยังมีความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน สภาพคล่องในยามเกิดวิกฤตการเงิน และผลกระทบต่อการแข่งขันของภาคธุรกิจ.- สำนักข่าวไทย