รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ11 มิ.ย.- รพ.จิตเวชโคราช แนะประชาชน เตรียมตัวรับมือน้ำท่วมฉับพลันไว้ล่วงหน้า ชี้จะช่วยลดความสูญเสีย โดยฝึกเตรียมแผนเผชิญเหตุทั้งระดับครอบครัวและชุมชน เน้นชีวิตปลอดภัยอันดับแรก
นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติ โดยเฉพาะจากภัยธรรมชาติซึ่งมีแนวโน้มเกิดขึ้นบ่อยพบได้ทุกปี เช่น น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ประชาชนควรมีความรู้ ความเข้าใจ และควรฝึกฝนวิธีการรับมือไว้ เช่น กรณีเมื่อเกิดน้ำท่วมรุนแรง พบว่าหลายครอบครัวต้องขนย้ายข้าวของหนีน้ำ มักจะเกิดความโกลาหล วุ่นวาย ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนก การรับมือที่ดีที่สุดคือการเตรียมความพร้อมล่วงหน้าทั้งในระดับครอบครัวและระดับชุมชน หมู่บ้าน ทั้งพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ที่ไม่เคยประสบปัญหาก็ตาม ทั้งนี้เพื่อการเอาชีวิตรอดและอยู่อย่างปลอดภัย การเตรียมแผนไว้ล่วงหน้า หากไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการซักซ้อม แต่หากมีเกิดขึ้นจริง ก็จะลดการสูญเสีย ลดความสับสน กระวนกระวาย ความวิตกกังวล ความเครียดลงได้มาก ประการสำคัญจะทำให้ประชาชนเกิดประสบการณ์เรียนรู้และการจัดการที่ดียิ่งๆขึ้น
สำหรับวิธีฝึกการเตรียมพร้อมระดับครอบครัว มีข้อแนะนำ 6 ประการ ดังนี้ 1. ให้ฝึกการเตรียมแผนเผชิญน้ำท่วมไว้ ซักซ้อมหน้าที่ของสมาชิกครอบครัว หาทางหนีทีไล่ให้เรียบร้อย โดยเน้นความปลอดภัยชีวิตเป็นอันดับแรก โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ และเรื่องทรัพย์สินเป็นเรื่องรองลงมา
2.สำรองอาหาร น้ำดื่มสะอาด ใช้การได้อย่างน้อย 3 วัน
3. เตรียมยาสามัญประจำบ้านที่จำเป็นเช่น ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาใส่แผล ผงเกลือแร่ไว้ในที่ปลอดภัย
4. ในกรณีที่มีโรคประจำตัวทั้งทางกายและทางจิต ขอให้จัดเตรียมยาที่กินประจำไว้ใกล้ตัว หรือเก็บไว้ในที่ปลอดภัยป้องกันยาสูญหาย
5.จัดเตรียมระบบไฟสำรองส่องสว่างภายในบ้าน เช่นไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ เป็นต้น
และ6.เตรียมเบอร์โทรศัพท์เพื่อขอความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนเช่น เบอร์ญาติสนิท เบอร์เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เบอร์การแพทย์ฉุกเฉิน1669 เบอร์สายด่วนสุขภาพจิต1323 และสายด่วนกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784
นายแพทย์กิตต์กวี กล่าวต่อไปว่า เมื่อเกิดน้ำท่วมจริงและน้ำท่วมถึงบ้าน ขอให้ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ การมีสติจะช่วยให้เห็นวิธีการแก้ไขปัญหาได้ดีขึ้น โดยต้องนึกถึงความปลอดภัยของชีวิตเป็นอันดับแรก เช่น ระมัดระวังเรื่องไฟฟ้า ปิดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ติดตามข่าวสารจากทางราชการเป็นระยะๆ สิ่งที่ต้องคำนึงไว้ 3 ประการ คือ ห้ามเดินตามเส้นทางที่น้ำไหลแม้ระดับน้ำจะไม่สูงเช่นเพียงครึ่งฟุตก็ตาม ความเชี่ยวของกระแสน้ำอาจทำให้เสียหลักและล้มได้ ห้ามขับรถในพื้นที่ที่น้ำกำลังท่วม เพื่อลดความเสี่ยงในการจมน้ำ และห้ามเข้าใกล้อุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟ เนื่องจากกระแสไฟสามารถวิ่งผ่านได้
สำหรับในระดับชุมชน มีข้อแนะนำการเตรียมพร้อมล่วงหน้า 4 ประการ คือ1. จัดเตรียมแผนการช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน เช่น ดูแลความปลอดภัยกลุ่มที่เปราะบาง ได้แก่เด็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ช่วยกันเฝ้าระวังทรัพย์สินในชุมชน
2. ระดมความช่วยเหลือร่วมมือกันซ่อมแซมเขื่อนกั้นน้ำหากมีในชุมชน
3.จัดเวรยามเฝ้าระวังระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้น และคอยประกาศเตือนคนในชุมชนให้ทราบอย่างต่อเนื่อง
4.จัดเตรียมศูนย์กลางให้ข้อมูลข่าวสาร เป็นศูนย์กลางในการประสานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภายนอกและประสานกับประชาชนในพื้นที่
“หากชุมชนมีความเข้มแข็ง มีการเตรียมพร้อมระบบการป้องกันไว้ล่วงหน้า เมื่อเกิดภัยจะสามารถให้ความช่วยเหลือดูแลกันในเบื้องต้นได้รวดเร็วและทั่วถึงที่สุด ฟื้นฟูชุมชนก้าวข้ามความทุกข์และกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว ผลกระทบทางสุขภาพจิตก็จะมีน้อย หรือไม่มีเลย” นายแพทย์กิตต์กวี กล่าว.-สำนักข่าวไทย