กรุงเทพฯ 6 มิ.ย. – รัฐมนตรีเกษตรฯ เผยแนวโน้มราคาไข่ไก่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลจากมาตรการปรับสมดุลปริมาณไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยการแก้ไขปัญหาราคาไข่ไก่ตกต่ำ ว่าได้ปรับสมดุลปริมาณไข่ไก่ให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด ด้วยการขอความร่วมมือภาคเอกชนผู้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ และเจ้าของฟาร์มไก่ไข่ขนาด 200,000 ตัวขึ้นไป ปรับลดกำลังการผลิต โดยนำผลผลิตไข่ไก่ส่วนเกินออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ และปรับลดแม่ไก่ไข่ยืนกรงทั้งอุตสาหกรรมให้อยู่ประมาณ 50 ล้านตัว ซึ่งจะมีการผลิตไข่ไก่ประมาณ 80% หรือประมาณ 40 ล้านฟอง/วัน รวมทั้งการปรับแผนการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) และพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) ปี 2562 เพื่อรักษาสมดุลราคาไข่ไก่ในปัจจุบัน ทำให้ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจุบันราคาไข่ไก่อยู่ที่ประมาณ 3 บาท/ฟอง และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับระยะยาวตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ไก่ไข่ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2562-2566) เพื่อทบทวนยุทธศาสตร์เดิม และเพิ่มเติมเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการลดต้นทุนการผลิต การส่งเสริมการบริโภค การสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมถึงการบริหารจัดการปริมาณการเลี้ยงที่เหมาะสม ตลอดจนการจับคู่ระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยกับผู้ซื้อโดยตรง และการสร้างแรงจูงใจต่างๆ ให้กับเกษตรกรที่ปฏิบัติตามมาตรการแก้ปัญหา
ส่วนการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น สามารถยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.ที่ครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 36/2559 แล้ว 443,889 ไร่ ดำเนินการจัดที่ดินแล้วรวม 301,802 ไร่ ทำให้เกษตรกร ผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกิน ได้รับสิทธิ์การทำประโยชน์ในที่ดินทำกิน ได้รับการพัฒนาอาชีพและโครงสร้างพื้นฐาน โดย ส.ป.ก.เข้าปรับพื้นที่ 10,945 ไร่ ก่อสร้างถนนสายหลัก/สายซอยกว่า 120 กิโลเมตร และร่วมกับกรมชลประทานในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ คทช. 13 แห่ง สร้างบ่อบาดาล 31 บ่อ ร่วมกับ พอช. สร้างบ้านพักให้กับเกษตรกร 859 หลัง สร้างอาคารที่ทำการสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ 6 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ได้นำนโยบายตลาดนำการผลิตมาใช้เป็นหลักในการพัฒนาพื้นที่ สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เฉลี่ยปีละ 93,130 บาท/ครัวเรือน สูงกว่ารายได้ทางการเกษตรสุทธิของทั้งประเทศ นับว่าเป็นการสร้างความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรในพื้นที่ สำหรับการจัดที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมนั้น มีผลการจัดที่ดินทำกินรวม 36.08 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่เกษตรกรรม 35.21 ล้านไร่ ที่ชุมชน 0.38 ล้านไร่ และที่เอกชน 0.49 ล้านไร่ โดยจัดให้เกษตรกรแล้ว 2.87 ล้านราย.-สำนักข่าวไทย