ทำเนียบฯ 27 พ.ค. – บอร์ดอีอีซี เห็นชอบ รฟท.ส่งร่างสัญญารถไฟเชื่อม 3 สนามบินให้ ครม.พิจารณาพรุ่งนี้ ส่วนท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 กนอ.ต่อรองผลตอบแทนทางการเงินได้เพิ่มขึ้นจาก 6,606 ล้านบาท เป็น 6,721.23 ล้านบาท
นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) แถลงผลการประชุม ว่า กพอ.รับทราบความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) มูลค่า 182,524 ล้านบาท ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบสัญญาการร่วมลงทุนระหว่าง รฟท.กับกลุ่มซีพี วันที่ 28 พฤษภาคมนี้ คาดว่าจะลงนามสัญญาวันที่ 15 มิถุนายนนี้ตามแผน มั่นใจการก่อสร้างจะเสร็จภายใน 4 ปี นอกจากนี้ กพอ. ยังสั่งการให้ตั้งคณะอนุกรรมการอุทธรณ์ เพื่อพิจารณาการอุทธรณ์ของเอกชนผู้ประมูล 2 โครงการ คือ สนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จากนั้นจะนำกลับมาเสนอที่ประชุม กพอ.อีกครั้งเดือนมิถุนายนนี้
ด้านนางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า จากการที่ กนอ.เจรจากับภาคเอกชนสามารถได้ข้อยุติผลตอบแทนทางการเงินและทางเศรษฐศาสตร์ของการลงทุน หรือ FIRR โครงการถมทะเลท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) โดยเอกชนยอมลดดอกเบี้ยกู้เงินมาถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ จากร้อยละ 4.8 เหลือร้อยละ 4.38 ส่งผลให้ กนอ.ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 9.14 เป็นร้อยละ 9.21 คิดเป็นเงินที่รัฐจะได้รับเพิ่มจากเดิม 6,606 ล้านบาท เป็น 6,721.23 ล้านบาท ขณะที่เอกชนเดิมได้รับ FIRR ที่ร้อยละ 10.75 ลดลงเหลือร้อยละ 10.73 มูลค่าลดลงเหลือ 1,4298.50 ล้านบาท จากเดิมได้รับ 14,371 ล้านบาท และ กนอ.จากเดิมที่ต้องจ่ายเงินให้เอกชนปีละ 720 ล้านบาท ลดลงเหลือ 710 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 30 ปีของโครงการ รวมเป็นเงิน 21,300 ล้านบาท จากเดิมภาคเอกชนเสนอให้ กนอ.ต้องจ่ายภายใน 30 ปี รวม 45,480 ล้านบาท หลังจากนี้ กนอ.จะต้องนำผลการพิจารณาดังกล่าวไปรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานงบประมาณ กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้เรียบร้อยก่อนนำเสนอ ครม. คาดว่าจะสามารถนำเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 4 มิถุนายนนี้ จากนั้นคณะกรรมการฯ จะส่งร่างสัญญาไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาร่างสัญญาเสร็จภายใน 19 มิถุนายน 2562 และนำเสนอ กพอ.เห็นชอบผลการคัดเลือกและร่างสัญญาภายในวันที่ 22 มิถุนายน 2562 และเตรียมเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกภายใน 9 กรกฎาคมนี้ และคาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนระหว่าง กนอ.-กลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 (ช่วงที่ 1) อยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง บนพื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ มูลค่าการลงทุนรวม 55,400 ล้านบาท แบ่งการลงทุนภาครัฐ 12,900 ล้านบาท และเอกชน 42,500 ล้านบาท รวมมูลค่าทั้งหมด 55,400 ล้านบาท แบ่งการพัฒนาเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยภาคเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกจะสามารถเข้าพัฒนาได้ภายหลังจากลงนามในสัญญาร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งการร่วมลงทุนครั้งนี้ภาคเอกชนจะได้สิทธิ์ในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท อาทิ การขุดลอก และถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2568
สำหรับการพัฒนาท่าเรือฯ มาบตาพุดระยะที่ 3 ช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ กนอ.จะออกทีโออาร์ประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาโดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลวรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลว 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปี 2566 และเปิดให้บริการภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปี ข้างหน้า.-สำนักข่าวไทย