กทม. 10 พ.ค.-ล่าสุดมีผู้ประกอบการเดินทางมายื่นขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลแล้ว 3 ราย ซึ่ง กสทช. ย้ำว่าหากยื่นขอคืนแล้ว จะไม่สามารถถอนสิทธิ์ได้
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ให้สัมภาษณ์ว่ามีผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลมายื่นขอคืนใบอนุญาตแล้ว 3 ช่อง แต่ยังไม่ตอบว่าช่องใดบ้าง โดยเป็นการส่งจดหมายมาขอคืนใบอนุญาตเมื่อวานนี้ 1 ช่อง และมายื่นด้วยตนเอง 2 ช่อง ขอรอจนถึงเวลาสิ้นสุดวันนี้อีกครั้ง ว่าจะมีคืนจำนวนเท่าใด คาดว่าจะมีคืนไม่น้อยกว่า 5 ช่อง และตนได้มีการขอผู้ประกอบการที่คืนช่อง ให้ดูแลการจ่ายเงินชดเชยกับพนักงานให้เหมาะสม โดยขอให้จ่ายเงินชดเชยให้กับพนักงานมากกว่าตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด ขณะที่มีรายงานว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลบางราย ได้มีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แล้วว่าจะคืนช่องทีวีดิจิทัล คือ ช่องข่าวสปริงนิวส์ 19
และเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา นายฉาย บุนนาค รองประธานกรรมการบริหาร เครือเนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป เข้าพบเลขาธิการ กสทช. เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีคำนวณค่าชดเชยในการคืนใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล เพื่อนำข้อสรุปไปประชุมผู้ถือหุ้นในช่วงบ่าย และจะสรุปอีกครั้งว่าจะคืนใบอนุญาตหรือไม่ ซึ่งหากจะคืนใบอนุญาตจริง จะให้เจ้าหน้าที่มายื่นที่กสทช.ก่อนเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้การเปิดทางให้ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล คืนช่องได้ สืบเนื่องจากประกาศคําสั่ง คสช. เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม จากนั้น กสทช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยจากการคืนใบอนุญาตและได้มีการเชิญผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลทั้ง 22 ช่อง มาประชุมชี้แจงทำความเข้าใจก่อนที่ผู้ประกอบการจะตัดสินใจ สำหรับสูตรคำนวณชดเชยคืนช่องทีวีดิจิทัล คือ ให้นำเงินค่าประมูลทีวีดิจิทัล งวดที่ 1 – 4 มาคูณกับระยะเวลาใบอนุญาตที่ยังเหลืออยู่ คือ 10 ปี จากนั้นหารด้วยระยะเวลาใบอนุญาตทั้งหมดคือ 15 ปี ได้ผลลัพธ์เท่าไหร่นำไปหักกับสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับการสนับสนุน
ซึ่งหากยื่นแล้ว ขั้นตอนต่อไปให้ส่งเอกสารการขอคืนใบอนุญาตภายใน 60 วันเพื่อให้บอร์ด กสทช. พิจารณาอนุมัติ พร้อมทั้งต้องกำหนดวันยุติการออกอากาศ และมาตรการเยียวยาผู้บริโภค หลังดำเนินมาตรการทุกอย่างครบแล้ว เมื่อยุติออกอากาศจะได้รับเงินชดเชยการคืนใบอนุญาตทันที คาดว่าดำเนินการได้ไม่เกินเดือนสิงหาคมนี้ โดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ
ด้าน นายมานะ ตรียาภิวัฒน์ อดีตคณบดีคณะนิเทศศาสตร์ ม.หอการค้าไทย ให้ความเห็นกรณีนี้ว่าผลกระทบในแง่บวก คือ การมีช่องทีวีเหลือน้อยลง สัดส่วนของเม็ดเงินโฆษณาน่าจะกระจายตัวได้ดีขึ้น ทำให้บางสถานีมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่มีข้อเสียที่ทำให้มีพนักงานจากช่องที่คืนต้องตกงานจำนวนมาก ถึงแม้พนักงานจะได้รับเงินชดเชย แต่ กสทช. ไม่ได้กำหนดรายละเอียดในเงื่อนไขการคืนใบอนุญาตว่าต้องกันเงินชดเชยไว้ให้พนักงานที่ถูกเลิกจ้าง และมองว่ามาตรการช่วยเหลือที่ กสทช. ออกมา น่าจะช่วยให้ทีวีดิจิทัลอยู่รอดได้ในระยะเวลาหนึ่ง โดยสื่อต้องหาทางอยู่รอด ซึ่งต้องเข้าใจและรู้เท่าทันเทคโนโลยี ภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ขณะที่ต้องติดตามต่อในช่วงบ่ายว่าจะมีความเคลื่อนไหวจากผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายใด จะเดินทางมาเพื่อยื่นขอคืนช่องเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ซึ่งเวลาสิ้นสุดที่สามารถยื่นคืนได้จนถึง 16.30 น. วันนี้ หลังจากครบกำหนดเวลา กสทช. จะแถลงสรุปอีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย