นิวยอร์ก 30 เม.ย.- มหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐเริ่มดำเนินโครงการแก้ปัญหานักศึกษาแบกรับภาระหนี้สินการศึกษาที่กำลังเป็นวิกฤตของประเทศ
ปัจจุบันนักศึกษาอเมริกันมีหนี้การศึกษารวมกัน 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 47.9 ล้านล้านบาท) กระทบต่อเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม นักศึกษาวัย 22 ปีที่รัฐอินดีแอนาคนหนึ่งเผยว่า แม้ได้เงินกู้ยืมที่รัฐสนับสนุน รวมกับเงินเก็บส่วนตัวและเงินจากบิดามารดาก็ยังไม่พอ เพราะหมดไปตั้งแต่เรียนได้เพียงสองปี เพราะค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายตกปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.27 ล้านบาท) ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อก้อนใหม่ให้ ทำให้ต้องนำข้าวของออกขายทางอีเบย์ และคิดจะหยุดเรียนหนึ่งภาคการศึกษาเพื่อทำงาน โชคดีที่มหาวิทยาลัยมีโครงการไอเอสเอ (Income Share Agreements) ออกเงินให้ก่อน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 957,823 บาท) โดยที่เขาจะชำระคืนหลังสำเร็จการศึกษาและมีงานทำ ด้วยเงินร้อยละ 9.6 ของเงินเดือนเป็นระยะเวลาหนึ่งขึ้นอยู่กับรายได้ในเวลานั้น
นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการไอเอสเอจะต้องชำระคืนเงินร้อยละ 10 ของเงินเดือนเป็นเวลา 4 ปีหากมีรายได้ขั้นต่ำปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.27 ล้านบาท) หรือราว 1.5 เท่าของค่าใช้จ่ายในการศึกษา แต่หากไม่ได้ทำงานเพราะเหตุผลส่วนตัว เหตุผลทางครอบครัว หรือเหตุผลทางสุขภาพก็สามารถหยุดชำระคืนเงินได้
อย่างไรก็ดี มีเสียงติงว่า โครงการแบบนี้ซึ่งมีอยู่แล้วในลาตินอเมริกาไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาได้จริง บางมหาวิทยาลัยอาจใช้โครงการนี้ดึงดูดคนเข้าเรียน แล้วไปขึ้นค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ แทน นอกจากนี้ยังอาจสร้างความไม่เท่าเทียมเพราะอาจจะเสนอให้แก่นักศึกษาบางคณะเท่านั้น.- สำนักข่าวไทย