กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – กรณี กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถือครองหุ้นในบริษัทสื่อสารมวลชน จะเข้าข่ายขาดคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้ง และโยงไปถึงการได้ใบส้มหรือไม่ ติดตามจากรายงาน
รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 42 (3) ห้ามมิให้ผู้สมัคร ส.ส. เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ จุดนี้เองทำให้ กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถือครองหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เข้าข่ายขัดคุณสมบัติหรือไม่
อดีต กกต. อธิบายว่า กรณีนายธนาธร เป็นเรื่องคุณสมบัติ ซึ่งจะพิจารณาจากหลักฐานการจดทะเบียน การโอนหุ้น ว่าก่อนหรือหลังลงสมัครรับเลือกตั้ง และต้องดูว่า กกต.จะพิจารณาว่าทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่
ขณะที่อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มองว่า ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะถือครองหุ้นสื่อมากหรือน้อย ก็เข้าข่ายผิดทั้งหมด และเป็นสิ่งที่ผู้สมัครต้องตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองก่อน ส่วนกรณีของนายธนาธร แม้กฎหมายไม่ได้กำหนดการเอาผิด ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่อาจเข้าข่ายทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต
นอกจากกรณีของนายธนาธร ยังมีผู้สมัคร ส.ส. และว่าที่ ส.ส. จาก 6 พรรคการเมือง จำนวน 32 คน ที่ถูกร้องกรณีถือครองหุ้นสื่อ ซึ่งในจำนวนนี้มีว่าที่ ส.ส. ระดับแกนนำพรรค อาทิ พรรคเพื่อไทย 10 คน เช่น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์, นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร, นายนพดล ปัทมะ พรรคอนาคตใหม่ 7 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน หากนายธนาธรได้ใบส้ม อาจจะเป็นบรรทัดฐานให้ผู้สมัครและบรรดาพรรคการเมืองที่ถูกร้องต้องได้รับชะตากรรมเดียวกัน และแน่นอนว่าจะส่งผลให้เก้าอี้ ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองเปลี่ยนแปลง. – สำนักข่าวไทย