กรุงเทพฯ 25 เม.ย. – บีกริมเสนอนำสำรองไฟฟ้าค้าขายในตลาด SPP-Power Pool พร้อมเดินหน้าลงทุน SPP 800 เมกะวัตต์ 3.85 หมื่นล้านบาท
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าบริหาร บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM และนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน กล่าวถึงโครงการพัฒนาตลาดการซื้อขายไฟฟ้าเสรีสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กระบบโคเจนเนอเรชั่น (SPP Cogeneration) ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กำลังเปิดรับฟังความคิดเห็นว่าโครงการนี้นับเป็นการพัฒนาตลาดไฟฟ้าเป็นโอกาสทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งในกรณีพื้นที่ความต้องการไฟฟ้าสูงแต่มีกำลังผลิตน้อย เช่น ภาคใต้การแข่งขันต่ำราคาอาจสูง แต่ในพื้นที่มีการแข่งขันสูงราคาก็อาจต่ำ และเพื่อเพิ่มการแข่งขันภาครัฐน่าจะนำส่วนสำรองไฟฟ้าเอสพีพีร้อยละ 5 นำมาแข่งขันใสตลาดนี้ด้วย ทั้งนี้ หากหลักเกณฑ์มีความชัดเจนอาจทำให้โครงการลงทุนเอสพีพีของบริษัท7 โครงการ ประกอบด้วย โครงการเอสพีพีทดแทน 5 โรง และโครงการอ่างทอง 2 โรง อาจมีกำลังผลิตไฟฟ้ามากกว่าแผนงานเดิมที่วางแผนจะมีกำลังผลิตสุทธิ 800 เมกะวัตต์ ในปี 2568 โดยในส่วนนี้ทางบริษัททยอยลงทุนเริ่มจากปีนี้วงเงินลงทุนรวม 38,500 ล้านบาท
ส่วนโครงการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) ขณะนี้บีกริมได้เจรจากับลูกค้าตกลงเบื้องต้น 200 เมกะวัตต์ เป็นสัญญาที่ลงนามแล้ว 70 เมกะวัตต์ โดยปีนี้จะมีผลิตติดตั้งรวมกว่า 20 – 25 เมกะวัตต์ ซึ่งเงินลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ/เมกะวัตต์ ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่บีกริมร่วมกับพันธมิตร เช่น ซีพียื่นเสนอประมูลนั้น หากชนะก็จะทำให้เพิ่มกำลังผลิตได้สูงขึ้น ส่วนโครงการลงทุนในต่างประเทศ นอกจากลาว, เวียดนามแล้ว เร็ว ๆ จะมีความชัดเจนโครงการพลังงานลมในเกาหลีใต้และพลังงานแสงอาทิตย์ในมาเลเซีย
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการ สนพ. กล่าวว่า โครงการพัฒนาตลาดการซื้อขายไฟฟ้าเสรีสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กระบบโคเจนเนอเรชั่น เป็นเรื่องต่อเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบแนวทางการสนับสนุน SPP Cogeneration ที่จะสิ้นสุดอายุสัญญาปี 2560 – 2568 ซึ่งจากมติ กพช.ดังกล่าวผู้ประกอบการ SPP Cogeneration จะขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในรูปแบบสัญญา Firm โดยมีปริมาณรับซื้อลดลงจากเดิมมาก โดยจากเดิมที่มีปริมาณรับซื้อสูงสุด 90 เมกะวัตต์ดังนั้น จึงมอบหมายให้ สนพ.ศึกษาแนวคิดของตลาด SPP-Power Pool เพื่อรองรับให้ SPP Cogeneration สามารถนำปริมาณการผลิตไฟฟ้าส่วนที่เกิน (Excess Capacity) จากปริมาณไฟฟ้าที่ขายให้ลูกค้าตรงในนิคมอุตสาหกรรมและปริมาณไฟฟ้าที่มีสัญญารูปแบบ Firm กับ กฟผ.มาสร้างตลาดกลางการซื้อขายไฟฟ้าที่มีกลไกการซื้อขายไฟฟ้าเสรี เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและส่งเสริมการแข่งขันในธุรกิจ และอุตสาหกรรมไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อตลาดซื้อขายไฟฟ้าประเทศในอนาคตต่อไป
ดังนั้น สนพ.จึงเปิดรับความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน จะสรุปความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับปรุงผลการศึกษาของโครงการฯ พร้อมทั้งสรุปข้อเสนอรูปแบบตลาดการซื้อขายไฟฟ้าเสรี SPP-Power Pool ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น. – สำนักข่าวไทย