กรุงเทพฯ 24 เม.ย. – รมว.เกษตรฯ สั่งเร่งดำเนินการตามมาตรการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด หลังประกาศกระทรวงฯ 5 ฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้เดินหน้าโดยไม่ต้องรอมีผลบังคับใช้ ก่อนสิ้นปี 63 หากปรับเปลี่ยนการทำเกษตรกรรมเป็นแบบอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยได้ทั้ง 149 ล้านไร่ทั่วประเทศ เลิกใช้ทั้ง 3 สารทันที
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ประกาศกระทรวงเกษตรฯ 5 ฉบับเกี่ยวกับการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันหลังวันประกาศ แต่กระทรวงเกษตรฯ ได้ดำเนินการแผนปฏิบัติการจำกัดการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดตามที่กรมวิชาการจัดทำ 6 มาตรการ ซึ่งคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติเห็นชอบ 6 มาตรการมาก่อนแล้ว ได้รับรายงานว่าวันนี้ (24 เม.ย.) จะเริ่มอบรมวิทยากรซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในส่วนภูมิภาคของกรมวิชาการเกษตร 240 คน จากนั้นวันที่ 25 เมษายนอบรมเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตร การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทย 2,000 คน เพื่อสร้างวิทยากรไปให้ความรู้แก่เกษตรกร 1,500,000 คน ในช่วงเดือนมิถุนายน – กันยายน
สำหรับผู้รับจ้างพ่น 50,000 คน จะจัดอบรมระหว่างเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2562 ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่ ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล 79,988 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีอำนาจในการเข้าไปตรวจสอบการใช้ 3 สาร ภายในเขตท้องที่รับผิดชอบ ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จะอบรมผ่าน video conference เครือข่ายของกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศระหว่างเดือนมิถุนายน 2562
ตามประกาศกระทรวงฯ ชนิดพืชที่ให้ใช้พาราควอตและไกลโฟเซต เฉพาะเพื่อกำจัดวัชพืชให้ใช้ในอ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าวโพด และไม้ผลเท่านั้น ส่วนคลอร์ไพริฟอส ให้ใช้เฉพาะกำจัดแมลงในการปลูกไม้ดอก พืชไร่ และเพื่อกำจัดหนอนเจาะลำต้นในไม้ผล ภายหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้เกษตรกรที่มีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดต้องแสดงหลักฐานว่าได้ผ่านการอบรม ชนิดพืชที่ปลูก พร้อมจำนวนพื้นที่ปลูกเพื่อกำหนดปริมาณสารเคมีที่จะซื้อไปให้มีความเหมาะสมกับความต้องการใช้ เพื่อนำไปแสดงเป็นหลักฐานในการซื้อสารเคมีทั้ง 3 ชนิด
นอกจากนี้ สั่งการให้นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงฯ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการจำกัดการใช้สารเคมี 3 ชนิดของกระทรวงและอธิบดีกรมวิชาการเกษตรซึ่งเป็นเลขานุการเร่งสำรวจปริมาณสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ทั้งจากผู้นำเข้าและร้านจำหน่ายว่ามีเท่าไร ต่อไปจะต้องแจ้งปริมาณสตอกสินค้าทุก 15 วัน โดยระบุปริมาณที่ได้รับ แหล่งที่มา และแหล่งที่ส่งสารเคมีทั้ง 3 ชนิดออกไป
“สิ่งสำคัญที่ต้องทำ คือ การเร่งขยายพื้นที่การทำเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP หรือเกษตรอินทรีย์ให้ครบ 149 ล้านไร่ ภายในเดือน 31 ธันวาคม 2563 ขณะนี้ให้กรมวิชาการเกษตรร่วมกับภาควิชาการและภาคเอกชนศึกษาวิจัยหาวิธีการหรือสารอื่นมาทดแทนสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งคณะอำนวยการขับเคลื่อนของกระทรวงต้องรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณชนทุก 3 เดือน หากทำได้ตามที่กำหนดไว้ทั่วประเทศจะยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิดทันที” นายกฤษฎา กล่าว.-สำนักข่าวไทย