กรุงเทพฯ 23 เม.ย.-กรมสรรพากรถอย เจ้าของเงินฝากไม่ต้องแจ้งยินยอมเปิดเผยข้อมูลดอกเบี้ยเงินฝาก แต่ข้อมูลจะส่งให้กรมฯ อัตโนมัติ หากไม่เกิน 20,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษีเหมือนเดิม
นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า จากการหารือกับสมาคมธนาคารไทยกรณีข้อกังวลประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเรื่องการจัดเก็บภาษีเงินได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ในอัตราร้อยละ 15 ถ้ารายได้ดอกเบี้ยเงินฝากเกินกว่า 20,000 บาท/ปี ส่วนไม่ถึง 20,000 บาทได้รับการยกเว้น แต่เจ้าของบัญชีเงินฝากจะต้องไปลงนามยินยอมให้สถาบันการเงินเจ้าของบัญชีส่งข้อมูลกับกรมสรรพากร ซึ่งพบว่ายังมีปัญหาเรื่องการให้เจ้าของบัญชีลงนามยินยอม โดยเฉพาะในกลุ่มที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 บาท ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 99
กรมสรรพากรจะมีการแก้ไขประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 344) เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมาใหม่ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้ทันการจัดเก็บภาษีดอกเบี้ยเงินฝากที่จะมีผลในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ โดยประกาศใหม่จะปรับเปลี่ยนเป็นผู้ฝากเงินทุกรายไม่ต้องลงนามให้ความยินยอม แต่ข้อมูลของสถาบันการเงินจะถูกนำส่งไปทางกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ ซึ่งผู้ที่เสียภาษีจะมีเพียงผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเกินกว่า 20,000 บาทเท่านั้น ส่วนกรณีที่เจ้าของบัญชีที่ไม่ต้องการให้ธนาคารนำส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรให้เจ้าของบัญชีมาแจ้งความจำนงกับธนาคารเป็นราย ๆ ไป โดยยืนยันว่าผู้ที่มีดอกเบี้ยรับต่ำกว่า 20,000 บาท/ปีจะไม่เสียภาษีแน่นอน
ส่วนการประชุมคณะทำงานสมาคมธนาคารไทย กรณีดังกล่าว โดยให้คนที่ไม่ประสงค์ให้ธนาคารพาณิชย์ส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้กับกรมสรรพากร ต้องไปแสดงตนและเซ็นยินยอมไม่เปิดเผยข้อมูลกับธนาคาร หากไม่แจ้งธนาคารจะส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรอัตโนมัติ ซึ่งนางสาวชุลีพร น่วมทนง รองเลขาธิการสมาคมธนาคารไทย บอกว่าจะช่วยให้การทำงานของธนาคารพาณิชย์ง่ายขึ้น และมีผลกระทบกับลูกค้าน้อยลง ซึ่งคณะทำงานจะหารือกับกรมสรรพากรอีกครั้งในวันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายนนี้ โดยจะเชิญเจ้าหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าร่วมหารือด้วย เพื่อศึกษาแนวทางของประกาศก่อนที่กรมสรรพากรจะมีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ
หลังจากนั้น ก็จะกลับมาประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติของสมาคมต่อไป โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปปรับปรุงเนื้อหาเอกสารให้สอดคล้องกับประกาศของกรมสรรพากรที่แก้ไขใหม่ เมื่อได้ข้อสรุป สมาคมก็จะเเจ้งไปยังธนาคารพาณิชย์ เพื่อเเจ้งต่อไปยังลูกค้า พร้อมกับจะทำอินโฟกราฟฟิค เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ลูกค้าเข้าใจที่ง่ายได้ขึ้น
ปัจจุบันนี้บัญชีออมทรัพย์ในระบบประมาณ 80 ล้านบัญชี โดยเฉลี่ย 1 คน เปิดบัญชีออมทรัพย์ประมาณ 3 บัญชี และผู้ที่มีรายได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์เกิน 20,000 บาท ประมาณ 3 ล้านบัญชี หรือประมาณร้อยละ 1 ของผู้ฝากเงินทั้งหมด ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับ ผู้ที่มีรายได้ดอกเบี้ยออมทรัพย์ไม่เกิน 20,000 /ปี ที่มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 99 ซึ่งไม่เสียภาษีเงินได้ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์อยู่แล้ว
ด้านนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวทางที่มีการหารือร่วมกับกรมสรรพากรคือ การเลื่อนการบังคับใช้ออกไปก่อน ทั้งนี้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกว่าจะถูกเก็บภาษีดอกเบี้ยออมทรัพย์ เพราะหากมีเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์ไม่ถึง 4 ล้านบาทก็ไม่ต้องถูกเก็บอยู่แล้ว
มีข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ถึงจำนวนบัญชีและจำนวนเงินฝากออมทรัพย์จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ว่า จำนวนเงินฝากออมทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารพาณิชย์มีประมาณ 88 ล้านบัญชี คิดเป็นจำนวนเงินรวมทั้งหมดประมาณ 7.5 ล้านบัญชี พบว่าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่มีจำนวนมากที่สุดคือ บัญชีที่มีเงินฝากไม่เกิน 50,000 บาท มีอยู่ทั้งหมด 77.7 ล้านบัญชี วงเงินรวมประมาณ 366,000 ล้านบาท รองมาเป็นบัญชีเงินฝากเกิน 50,000 บาท แต่ไม่เกิน 1 แสนบาท มีจำนวน 3.47 ล้านบัญชี วงเงินฝากประมาณ 244,000 ล้านบาท ตามด้วยเงินฝากระหว่าง 1 แสนถึง 2 แสนบาท มี 2.67 ล้านบัญชี วงเงินรวม 370,000 ล้านบาท ส่วนผู้ที่มีเงินฝากระหว่าง 1 ล้านถึง 10 ล้านบาท เป็นกลุ่มที่มียอดวงเงินฝากมากที่สุด กว่า 2 ล้านล้านบาท จากจำนวนบัญชีทั้งหมด 9 แสนบัญชี.-สำนักข่าวไทย